ชมรมแพทย์ชนบท ตั้งคำถามว่าหรือนี่คือร่องรอยการส่อทุจริตขององค์การเภสัชกรรม และระบุว่าคนที่ติดตามข่าว ATK 8.5 ล้านชิ้นนั้น จะทราบว่า บริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดย บริษัท เวิลด์เมดิคัล อัลไลแอนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผิดกฎหมายชัดๆ
"องค์การเภสัชกรรมพอรู้ตัวว่า “พลาดแล้ว” จึงเล่นบทที่ช่างกล้า แถลงว่า ชื่อผู้ยื่นซองประมูลไม่ใช่ออสแลนด์แต่เป็น บริษัท เวิลด์เมดิคัล อัลไลแอนท์(ประเทศไทย)จำกัด ในฐานะผู้แทนจำหน่าย ชัดเจนว่าที่ผ่านมา ชื่อออสแลนด์ฯ คือชื่อผู้ชนะการประมูล ไม่มีชื่อเวิลด์เมดิคัลฯ"
ดังปรากฏในหลักฐานเบื้องต้นทั้ง 3 รูปที่แนบมาด้วยคือ
1. องค์การเภสัชกรรมได้ทำหนังสือเชิญชวนบริษัทออสแลนด์ฯให้มายื่นซอง ซึ่งระบุชัดว่า หากบริษัทนำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกับผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายด้วย ซึ่งหากมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายมาก่อนแล้ว บริษัทเวิลด์เมดิคัลฯก็ย่อมใช้ชื่อตนเองในการยื่น แต่ทำไมกลับไม่ได้ใช้ยื่น
2. รูปการเขียนผลการเปิดซองบนกระดาน มีชื่อบริษัทออสแลนด์หมายเลข 11 แต่ไม่มีชื่อบริษัทเวิลด์เมดิคัลฯ (มีเจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรมหลายคนร่วมในเหตุการณ์)
3. รูปในข้อ 2 สอดคล้องกับ ข่าวองค์การเภสัชกรรม 11 สิงหาคม 2564 (วันเปิดซองประกวดราคา) ระบุชัดเจนว่า “บริษัทออสแลนด์แคปปิตอลจำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุด” ไม่ใช่บริษัทเวิลด์เมดิคัลฯ
เมื่อเป็นประเด็นร้อน ข่าวองค์การเภสัชกรรม 2 กันยายน 2564 เพิ่งมา “ชี้แจงย้ำว่า ผู้ยื่นซองคือบริษัทเวิลด์เมดิคัลฯ โดยได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทออสแลนด์ฯให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ” ซึ่งถือเป็นร่องรอยการส่อทุจริตที่สำคัญ
ชมรมแพทย์ชนบทขอเรียกร้องต่อ โรงพยาบาลราชวิถีในฐานะผู้แทนหน่วยบริการ สปสช.ในฐานะผู้จ่ายเงินงบประมาณซื้อ ATK กระทรวงสาธารณสุขในฐานะคณะกรรมการกำหนดแผนฯที่เป็นผู้รับรองราคาและสเป็ค กรมบัญชีกลางในฐานะผู้คุ้มกฎ และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องผู้ประมูลเป็นคนละรายกับผู้ลงนามในสัญญาให้ละเอียดโดยเร็ว ว่าเป็นการการกระทำที่ผิดกฏหมายและเอื้อเอกชนหรือไม่ รวมทั้งมีการแก้ไขเอกสารการประมูลเพื่อสร้างหลักฐานเท็จหรือไม่ และควรมีการอายัติและเปิดเอกสารทั้งหมดเพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
ATK ล็อตนี้นอกจากมีความคลางแคลงสงสัยในคุณภาพแล้ว หากยังมีการประมูลที่ขาดธรรมาภิบาลด้วยแล้ว ยิ่งเป็นตราบาป กำลัง 2 ของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่ควรเกิดขึ้น องค์การเภสัชกรรมเคยเป็นองค์กรแห่งความหวังของเราชาวแพทย์ชนบทและสังคมไทย มิควรต้องมัวหมองเพราะการบริหารที่ไม่ตรงไปตรงมาโดยผู้บริหารไม่กี่คน สังคมไทยและรัฐบาลต้องร่วมกันทำความจริงให้กระจ่างโดยเร็ว
อย่างไรก็ตามเมื่อวานที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม (GPO) ชี้แจง ย้ำ ผู้ยื่นซองราคา ATK 8.5 ล้านชุด คือ บริษัทเวิลด์ เมดิคอล ฯ โดยได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท ออสท์แลนด์ ฯ เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ
นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ตามที่มีการเสนอข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ว่า การที่องค์การฯเซ็นสัญญาชื้อ ATK กับ บริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด แทนบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด นั้น อาจผิดกฎหมาย
องค์การฯ ย้ำว่า ในวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์การฯ ได้จัดให้มีการเสนอราคาจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ( สปสช.) โดยบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ยื่นซองราคาชุดตรวจ ATK ยี่ห้อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test Kit ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจากบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 โดยบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นที่ผู้ได้รับใบรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใบจดทะเบียนที่ กท สน. 8/2564 ให้เป็นผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ (ชุดตรวจ ATK) และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงได้ยื่นซองเสนอราคาในนามของ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ และเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดผ่านเกณฑ์ตามข้อกำหนด ดังนั้นองค์การฯจึงได้ทำการลงนามสัญญาจัดซื้อ ATK กับบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถจัดหาชุดตรวจ ATK และกระจายสู่ประชาชนให้เร็วที่สุด