นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร สรุปเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมาธิการการพลังงาน ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564 ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการการพลังงาน หลายเรื่องด้วยกัน
ทั้งนี้ เรื่องที่ทางกรรมาธิการจะเร่งทำการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชน คือ เรื่องร้องเรียนจากสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย และผู้แทนสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน ขอให้ลดราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งมีผู้ประกอบการ สมาชิกของของสมาคมได้รับความเดือดร้อน จำนวนมากกว่า 20,000 คัน
ในเรื่องดังกล่าวคณะกรรมาธิการฯ ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาดำเนินการแล้ว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการรถโดยสารประจำทางเพื่อร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางต่อไป ขณะที่กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเร่งพิจารณา โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของกองนโยบายปิโตรเลียม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน พร้อมกันนั้น กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
พร้อมกันนี้สมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากกรณีเดียวกัน โดยขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการพิจารณาเยียวยาความเดือดร้อนและหาแนวช่วยเหลือลดราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ซึ่งในประเด็นดังกล่าวทางคณะกรรมาธิการได้หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหามาตรการเยี่ยวยาความเดือดร้อน และช่วยเหลือลดราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ NGV สำหรับเครือข่ายผู้ประกอบการแท็กซี่ สหกรณ์แท็กซี่ และผู้ขับรถแท็กซี่อย่างเร่งด่วน
“ผู้ประกอบการสหกรณ์แท็กซี่ ผู้ประกอบการแท็กซี่ อู่แท็กซี่ และผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ที่ได้รับความเดือดร้อนมีจำนวนไม่น้อยกว่า 30,000 คันที่ได้รับผลกระทบ และถ้านับรวมจำนวนผู้ขับรถแท็กซี่พร้อมทั้งครอบครัวด้วยแล้ว จะมีมากกว่า 50,000 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบและและในขณะนี้คาดว่ามีรถแท็กซี่ที่ทำการวิ่งรับผู้โดยสารอยู่ประมาณ 20,000 คัน วิ่งรับผู้โดยสารมากกว่า 10 ชั่วโมง ได้ค่าโดยสารมากสุดประมาณ 300 บาท เติมแก๊ส 200 บาท เหลือเพียง 100 บาทเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว”
อย่างไรก็ตามแม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะได้ทำการชดเชยให้กับผู้ขับแท็กซี่ จำนวนคนละ 5,000 บาทมาแล้ว แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่น่าเพียงพอที่จะช่วยเหลือให้อยู่รอดในช่วงเวลาวิกฤตอย่างแน่นอน ประเด็นที่กรรมาธิการฯ จะช่วยได้คือ ประสานไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานให้เร่งทำการพิจารณาลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ NGV ให้ต่ำลง เพื่อต้นทุนของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ขสมก. รถร่วม รถสองแถว รถแท็กซี่ มีต้นเชื้อเพลิงที่ต่ำลง เพื่อความอยู่รอดในช่วงของการระบาดเชื้อโควิด-19
ด้านนายชูศักดิ์ วงศ์สวัสดิ์ อดีตนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน ให้ความเห็นถึง แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง รถร่วม รถสองแถว และแท็กซี่ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น ควรนำมาตรการเดิมที่เคยช่วยเหลือโดยการปรับลดราคาให้กับกลุ่มรถโดยสารแต่ละประเภท ลดลงกิโลละ 3 บาท โดยวิธีการออกบัตรให้ สำหรับงบประมาณที่ใช้ อาจขอความร่วมมือ ปตท.หรือใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และควรมีนโยบายให้ ปตท.ปรับสูตรโครงสร้างราคา NGV โดยนำส่วนที่กำไรออกหรือลดลง คงเหลือเพียง ราคาต้นทุนก๊าซ บวกค่าดำเนินการเท่านั้น ซึ่งก็จะไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของปตท.ในช่วงยุคโควิดระบาด