วันที่ 4 กันยายน 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 15,942 ราย เสียชีวิต 257 ราย แนวโน้มอยู่ในช่วงลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังต้องจัดระบบเฝ้าระวัง สอบสวนโรค ค้นหาผู้ป่วย ติดตามคนจากพื้นที่เสี่ยง ประชาชนเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคลสูงสุดทุกที่ทุกเวลา
แม้จะมีการผ่อนคลายเปิดกิจการกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ และขอให้ไปรับวัคซีนตามที่กำหนดจะช่วยควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งวันที่ 3 กันยายน ฉีดวัคซีนได้ 925,627 โดส ถือว่าสูงที่สุด สะสม 35.2 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 24.9 ล้านคน คิดเป็น 34% ของประชากร โดยกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดแล้ว 47.5% หลายจังหวัดเกือบถึงเป้าหมาย 70%
“กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า การจัดซื้อจัดหาวัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล มีความโปร่งใสและไม่มีเรื่องเงินทอน เนื่องจากการส่งวัคซีนของจีนทุกครั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลางจีน ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชัน"
เช่นเดียวกับ "ไฟเซอร์" และ "แอสตร้าเซนเนก้า" ที่เป็นบริษัทระดับโลก หากมีเรื่องเงินทอนจริงคงไม่นิ่งเฉย และขออย่าด้อยค่าวัคซีนจนหลายคนกลัวไม่ไปฉีดโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนรับวัคซีน ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนที่ผ่านมายังไม่มีรายใดเสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง ขอให้ไปรับวัคซีนตามที่กำหนด
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า การเจรจาจัดหาวัคซีนทุกตัวดำเนินการตั้งแต่ยังวิจัยไม่สำเร็จ การลงนามในสัญญาจึงไม่ใช่สัญญาตามแบบปกติ แต่ทั้งหมดทำตามกฎหมาย มีการปรึกษาสำนักงานอัยการสูงสุด และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อขอใช้งบในการซื้อทุกครั้ง
ส่วนเรื่องราคาวัคซีนที่ประเทศไทยจัดซื้อมานั้น วัคซีนซิโนแวค ซื้อครั้งแรกในราคา 17 เหรียญต่อโดส แต่เมื่อมีการซื้อจำนวนมากต่อเนื่องราคาจึงลงมาอยู่ที่ราว 9 เหรียญ เมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ราคาถูกกว่า 50% วัคซีนไฟเซอร์ก็ซื้อได้ถูกกว่า 50% เมื่อเทียบกับอีกบริษัท ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าราคาถูกกว่าวัคซีนทุกชนิดที่จัดหาได้ในประเทศ
ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่รับนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลถึงวันที่ 2 กันยายน 2564 มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 27,216 คน ซึ่งทั้งหมดต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มากับผู้ปกครอง มีการตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกที่มาถึงและตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง พบผู้ติดเชื้อ 85 ราย คิดเป็น 0.31% ส่วนใหญ่ตรวจพบเชื้อใน 7 วันแรก ไม่มีอาการหรืออาการน้อย คนที่มีอาการรับการรักษาจนหายแล้ว 20 ราย
ผู้ที่ติดเชื้อมีประวัติรับวัคซีนโควิดในทุกตัวที่ประเทศไทยกำหนด แสดงว่าไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ฉีดแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ทั้งโควิชิลด์ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟเซอร์ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา แต่ไม่มีใครป่วยรุนแรง และไม่เกิดปัญหาการแพร่เชื้อคนในพื้นที่และไม่กระทบระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข แม้ในภูเก็ตจะมีการติดเชื้อในพื้นที่ แต่ยังอยู่ในขีดความสามารถดูแลผู้ติดเชื้อได้ในทุกระดับอาการมากกว่า 28%
ส่วนคนเสียชีวิตจากโควิดใน จ.ภูเก็ต ช่วงเดือนกรฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา มี 12 ราย พบว่า 11 รายไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เป็นสูงอายุและมีโรคประจำตัว อีก 1 รายรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม จะเห็นว่าคนภูเก็ตที่ส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ซึ่งเป็นการยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคจากโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 90.5%ในสมุทรสาครช่วงเดือนมีนาคมที่เป็นสายพันธุ์จี และ 90.7% ใน กทม.และปริมณฑลช่วงเมษายน-พฤษภาคมที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา และบุคลากรทางการแพทย์ จ.เชียงราย ช่วงมิถุนายนที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา 82.8%
ต่อมามีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้ปรับเป็นการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่างกัน 3 สัปดาห์ ตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นมา ฉีดสูตรนี้แล้วมากกว่า 2.5 ล้านคน มีผู้ติดโควิดเสียชีวิต 1 ราย อัตราเสียชีวิตถือว่าต่ำมาก (เท่ากับ 0.4 รายต่อล้านคน) เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งพบว่า 1 ล้านคน เสียชีวิตจากโควิด 132 คน ดังนั้น จากข้อมูลซิโนแวค 2 เข็มในภูเก็ตและสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า จึงสรุปได้ว่าวัคซีนนี้มีประโยชน์อย่างมากในระยะนี้ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนนั้น คาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนมีวัคซีนมากกว่า 15 ล้านโดส จากซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7.3 ล้านโดส ซึ่งอาจได้มากถึง 8 ล้านโดส และไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ส่วนตุลาคมมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มเป็น 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส และซิโนแวค 6 ล้านโดส รวมเป็น 24 ล้านโดส ขณะที่เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มีเดือนละ 23 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้าเดือนละ 13 ล้านโดส และไฟเซอร์เดือนละ 10 ล้านโดส จึงเป็นที่มาของการไม่ได้สั่งเพิ่มซิโนแวคในช่วงนั้น แต่สถานการณ์มีความไม่แน่นอน เช่น การส่งมอบวัคซีน หรือความจำเป็นของการฉีดวัคซีนในเด็กเมื่อมีผลการศึกษาแล้ว ซึ่งวัคซีนเชื้อตายยังเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อเทียบผลข้างเคียงและประโยชน์ที่ได้รับ ก็มีโอกาสที่จะต้องสั่งเข้ามาเพิ่มตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยบริหารจัดการวัคซีนให้สอดคล้องกับจำนวนที่ได้รับในแต่ละเดือน เพื่อให้การฉีดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง