รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
อังกฤษมีความเห็นแตกต่างกับอิสราเอล ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา โดยยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในเด็กอายุ 12-15 ปี
คณะกรรมการด้านวัคซีนของอังกฤษ (JCVI : Joint Committee on Vaccination and Immunisation)ได้มีความเห็นเบื้องต้นว่า ยังไม่สมควรแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกับเด็กสุขภาพดีในช่วงอายุ 12-15 ปี โดยได้ชั่งผลดีผลเสียทั้งสองด้านแล้วว่า เด็กอายุ 12-15 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัว เมื่อติดเชื้อแล้วส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ และมีส่วนน้อยที่มีอาการเล็กน้อย ซึ่งก็จะหายได้เองโดยที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
โดยมีสถิติยืนยันว่า เด็กที่ไม่มีโรคประจำตัว ติดโควิดแล้วต้องนอนโรงพยาบาลเพียง 2 รายใน 1,000,000 ราย ในขณะที่เด็กที่มีโรคประจำตัว จะต้องนอนโรงพยาบาลมากถึง 100 รายต่อ 1,000,000 ราย
ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนโดยเฉพาะเทคโนโลยี mRNA คือของ Pfizer พบว่ามีผลข้างเคียงที่พบน้อยมาก (very rare) แต่มีอาการรุนแรงคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) โดยมักจะพบในผู้ที่มีอายุค่อนข้างน้อย ไม่พบในผู้สูงอายุ
โดยมีสถิติจากสหรัฐอเมริกาว่า จะพบในผู้หญิง 8 รายใน 1,000,000 โดส และในผู้ชายพบถึง 60 รายใน 1,000,000 โดส สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มอายุ 12-17 ปี ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น และมีรายงานการเสียชีวิตไปบ้างแล้ว
คณะกรรมการ JCVI จึงชั่งน้ำหนักว่า ประโยชน์ที่ได้จากการฉีดวัคซีน ยังไม่ได้มากกว่าผลข้างเคียงของวัคซีนอย่างชัดเจน
จึงยังไม่มีคำแนะนำ ที่จะให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปีดังกล่าว แต่แนะนำให้ฉีดในเด็กวัยเดียวกันที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด หัวใจ ตับ ไต เบาหวาน โรคมะเร็งของระบบเลือด หอบหืดที่ควบคุมไม่ได้ ตลอดจนกลุ่มปัญญาอ่อน หรือกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งมีจำนวนกว่า 200,000 ราย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ มีความเห็นต่าง จึงยังไม่ประกาศมติดังกล่าว แต่จะขอส่งคำถามไปยังหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (Chief Medical Officer) ของประเทศในกลุ่มสหราชอาณาจักร อันได้แก่ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ
โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มองบริบทที่กว้างขึ้น ถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีน ที่จะทำให้เด็กสามารถไปโรงเรียนได้ เพราะกลุ่ม JCVI อาจจะมองแคบเกินไปเฉพาะทางวิชาการ เป็นมุมมองที่เห็นความแตกต่างชัดเจน ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับนักวิชาการในบอร์ดดังกล่าว แต่ก็ยังรับฟังความเห็นของทางวิชาการ โดยส่งไปถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกสามประเทศร่วมด้วย
ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศอิสราเอล ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ก็เดินหน้าที่จะให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว
สำหรับประเทศไทยเรา ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าจะได้รวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆมาประกอบการพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" ล่าสุดนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุถึงแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ที่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะมีการระบุด้วยว่า วัคซีนโควิด-19 นั้นๆ สามารถใช้ในกลุ่มวัย หรือกลุ่มใด ได้บ้าง โดยขณะนี้ที่มีการขึ้นทะเบียนใช้ในกลุ่มอายุที่น้อยที่สุด คือ วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ ที่ขึ้นทะเบียนฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ สธ.มีการพิจารณาแนวทางการฉีดวัควีนอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งในรายละเอียดจะมีการแจ้งให้ประชาชนรับทราบอีกครั้ง
ขณะที่ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงวัคซีนโควิด-19 ที่มีการขึ้นทะเบียนใช้ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้แต่ละยี่ห้อมีข้อกำหนดในการเริ่มฉีดในกลุ่มอายุที่แตกต่างกัน เช่น วัคซีนโมเดอร์นา ขึ้นทะเบียนฉีดในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ขึ้นทะเบียนฉีดในกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป
ส่วนอายุวัคซีนสำหรับฉีดให้เด็กอายุต่ำกว่านี้ ยังไม่มีตัวไหนขึ้นทะเบียน รวมถึงในต่างประเทศก็ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน หลายตัวอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย อย่างไรก็ตาม ขณะไฟเซอร์อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนวัคซีนฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ในสหรัฐอเมริกา ส่วนวัคซีนตัวอื่นๆ เช่น วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนซิโนฟาร์ม อยู่ระหว่างการศึกษาการฉีดในเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ในระยะที่ 3 เพื่อดูประสิทธิภาพ และความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ เนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กนั้น มักไม่มีอาการป่วย ไม่เหมือนกับกลุ่มอายุอื่นๆ เช่น ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อและอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ดังนั้น กรณีการฉีดวัคซีนในเด็ก ซึ่งติดเชื้อแต่ไม่ป่วยจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของความปลอดภัย