อัพเดทโควิดกลายพันธุ์ในไทยยังไม่พบสายพันธุ์มิว-C.1.2

06 ก.ย. 2564 | 06:27 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2564 | 13:38 น.

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยยังไทยยังไม่พบโควิดสายพันธุ์มิว และ C.1.2 ส่วนสายพันธุ์เดลตากินพื้นที่ไทย 93 % ขณะนี้มีเพียง 4 สายพันธุ์ที่ WHO จับตาว่าน่าห่วงกังวล

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจราว 1,500 ตัวอย่าง พบว่า สายพันธุ์เดลตา ภาพรวมประเทศเป็น 93 %  เฉพาะกทม. 97.6 %  ภูมิภาค 84.8 %  สายพันธุ์อัลฟา ภาพรวมประเทศ 5 % เฉพาะกทม.  2.4 %  ภูมิภาค 9.5 % และสายพันธุ์เบตา ยังจำกัดวงที่ภาคใต้ตอนล่าง 5.7 %  ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีการตรวจโดยวิธีมาตรฐานRT-PCR  แล้ว 13 ล้านตัวอย่างที่มีการรายงาน หากรวมที่ไม่รายงานอาจจะถึง 15 ล้านตัวอย่าง

สำหรับที่องค์การอนามัยโลกหรือWHO  มีการจัดชั้นของการกลายพันธุ์ โดยเริ่มต้นจากVOI (Variants of Interest) หรือการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ เช่น การกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่อาจจะมีปัญหาเรื่องของการแพร่ได้ หรือการดื้อหลบวัคซีน หรือเริ่มมีความผิดปกติอะไรสักอย่างบางพื้นที่พบมากขึ้น กระทันหัน ปัจจุบันมี 5 ตัว คือ อีตา ไอโอตา แคปปา แลมบ์ดา  และมิว  

ส่วนสายพันธุ์น่าห่วงกังวล VOC (Variants of Concern) ยังมี 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งในประเทศไทยเจอในประเทศ 3 สายพันธุ์ ส่วนแกมมาไม่พบ เคยเจอในสถานที่กักกันของรัฐแต่ควบคุมอยู่ไม่ได้หลุดออกไปภายนอก 

สำหรับประเด็นองค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังเฝ้าจับตาเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ B.1.621 หรือสายพันธุ์ “มิว” ที่พบครั้งแรกในโคลอมเบีย และ เชื้อสายพันธุ์ c.1.2 ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ นั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังไม่พบในประเทศไทย