รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
จีนระดมฉีดวัคซีนให้นักเรียนวัย 12-17 ปี ได้มากถึง 91% และฉีดให้คุณครูมากกว่า 95%
สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศแรกที่พบเคสโควิดเมื่อ 31 ธันวาคม 2562
และใช้มาตรการเข้มข้น ทั้งการล็อกดาวน์รวดเร็ว การเร่งตรวจเชิงรุกอย่างกว้างขวาง และในปัจจุบันเร่งฉีดวัคซีน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด
ตลอดหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา ต้องถือว่าประเทศจีนสามารถควบคุมการระบาดโควิด ได้ดีเป็นลำดับต้นของโลก
ในขณะนี้ จีนได้ผลิตวัคซีนเป็นของตัวเองแล้วหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตายได้แก่ Sinovac และ Sinopharm และได้ระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปแล้วราว 70%
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ยังคงเป็นปัญหาของเด็กและเยาวชนทั่วโลก เพราะงานวิจัยรองรับการฉีดวัคซีนในวัยเด็กนั้นมีน้อย
ขณะนี้จีนเอง ได้เร่งศึกษาการฉีดวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป โดยใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย ซึ่งมีความปลอดภัยสูง เพราะเคยใช้ฉีดเด็กและเยาวชนในโรคอื่นๆมาก่อนแล้วหลายสิบปี
ได้อนุมัติให้ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) ได้แล้ว แต่ทางการจีนเร่งฉีดเด็กอายุ 12 ขึ้นไปหรือชั้นมัธยมศึกษาเป็นหลัก ยังไม่เน้นฉีดในชั้นประถมศึกษา
การระดมฉีดในนักเรียนวัย 12-17 ปี เริ่มมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 และขณะนี้ยอดการฉีดวัคซีนในเด็กมัธยมศึกษาวัย 12-17 ปีของจีนได้ฉีดไปแล้วกว่า 91%
รวมทั้งมีตัวเลขการฉีดวัคซีนให้กับคุณครูและนักเรียนที่อายุเกินกว่า 18 ปี มากกว่า 95% แล้ว
แม้จีนจะสามารถระดมฉีดวัคซีนได้มากขนาดนี้ แต่ด้วยความไม่ประมาท ก็ปรากฏชัดจากการประกาศของกระทรวงศึกษาธิการจีน ที่ขอให้ทั้งคุณครูและนักเรียนยังคงใช้มาตรการเข้ม มีวินัยในป้องกันตนเองต่อไป
โดยเฉพาะในช่วงนี้ ที่กำลังจะมีเทศกาลหยุดยาวคือ เทศกาลฉลองกลางฤดูใบไม้ร่วง และเทศกาลวันชาติ ซึ่งจะเป็นการเฉลิมฉลองใหญ่ตลอดทั้งสัปดาห์
ทั้งนี้ได้เกิดเหตุ มีการติดเชื้อ 152 ราย ในกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนในโรงเรียนประถมสี่แห่ง และอนุบาลสองแห่ง ที่มณฑล Fugian จึงทำให้ทางการจีนต้องสั่งปิดโรงเรียนประถมและอนุบาลในมณฑลดังกล่าว
การเร่งฉีดวัคซีนนักเรียนและคุณครู ถือเป็นมาตรการสำคัญในการเปิดโรงเรียน ที่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้น้อยลง แม้เด็กจะมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงน้อยก็ตาม
แต่ในขณะเดียวกัน ความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครองในเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนต่อบุตรหลานของตนเอง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และสมควรรับฟัง
การดำเนินการควบคู่กันไป ในเรื่องการเร่งศึกษาวิจัยความปลอดภัยการฉีดวัคซีนในเด็ก กับการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนในเด็ก เพื่อเปิดโรงเรียนให้ได้ จึงต้องทำพร้อมกันไปอย่างเร่งด่วน
สำหรับการฉีดวัคซีนเด็กของประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการ มีมติเมื่อ 10 กันยายน 64 อนุมัติหลักการให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียนและนักศึกษากว่า 4.5 ล้านคน เพื่อป้องกันโควิด-19 (Covid-19)
ส่วนข้อมูลในต่างประเทศพบว่า
ประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในเด็กกลุ่มอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม
ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในเดือนพฤษภาคม ต่อมาในเดือนสิงหาคมได้มีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 3-17 ปี
ประเทศอินโดนีเซีย อนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวค กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ในวันที่ 28 มิถุนายน
ประเทศสิงคโปร์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน
ประเทศญี่ปุ่น อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-16 ปี ในเดือนมิถุนายน
ประเทศฟิลิปปินส์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม
ประเทศนิวซีแลนด์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน
ประเทศเม็กซิโก อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน
ประเทศบราซิล อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน
ประเทศแคนาดา อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม
ประเทศชิลี อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-16 ปี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม
ประเทศปารากวัย อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี เฉพาะที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น
ประเทศอิสราเอล อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในเดือนมิถุนายน
สำหรับชาติสมาชิกอียูที่ฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ประกอบด้วย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย เอสโตเนีย ฮังการี อิตาลี ลิทัวเนีย สเปน โดยส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกวัคซีน mRNA เกือบทั้งหมด