เปรียบเทียบ Pfizer-Sinopharm นักเรียนควรฉีดวัคซีนตัวไหนก่อนไปโรงเรียน

20 ก.ย. 2564 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2564 | 15:08 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนเด็กระหว่าง Pfizerและ Sinopharm นักเรียนควรฉีดตัวไหนก่อนไปโรงเรียน ระบุไฟเซอร์ได้รับการอนุมติจาก อย.แล้ว ส่วนซิโนฟาร์มรอการอนุมัติ

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ระหว่างวัคซีน Pfizer กับ Sinopharm นักเรียนควรฉีดตัวไหนดี ก่อนไปโรงเรียน
ในการเปิดเรียนภาคการศึกษาใหม่  เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองยินดีกันมา เพราะบุตรหลาน จะได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้ หลังจากที่ต้องเรียนออนไลน์กันมาเป็นเวลานาน และยังทำให้คุณพ่อคุณแม่มีภาระในการดูแลบุตรหลานของตนเองลดลงในช่วงเวลากลางวันด้วย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่า การเปิดให้นักเรียนไปโรงเรียนได้นั้น มีความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 (Covid-19) เพิ่มขึ้น
มาตรการสำคัญ ที่จะลดความเสี่ยงก็คือ การฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคุณครูและบุคลากร
ความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ก็คือ วัคซีนที่จะฉีดให้กับนักเรียนนั้น มีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไรบ้าง
ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ แตกต่างไปจากการฉีดวัคซีนโควิดในผู้ใหญ่ ที่ส่วนใหญ่มักจะสนใจเรื่องประสิทธิผลในการป้องกันโรค มากกว่าผลข้างเคียงหรือความปลอดภัย
การพิจารณาเลือกชนิดของวัคซีนฉีดให้กับบุตรหลาน จึงเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสำคัญ และให้ความสนใจกันมาก ประกอบกับข้อมูลมีไม่ครบถ้วน และมีความหลากหลาย จึงทำให้ยิ่งตัดสินใจได้ยากขึ้นไปอีก

บทความนี้ จึงจะเสนอข้อมูลที่จำเป็น สำหรับเป็นหลักคิด ที่เป็นตรรกะและเป็นเหตุเป็นผลให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง พิจารณาตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
1.ถาม : ถ้าไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด แล้วไปโรงเรียน จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากน้อยเพียงใด
   ตอบ : มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก แต่ถ้านักเรียนรวมทั้งคุณครูและบุคลากรฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก นักเรียนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็จะมีโอกาสติดเชื้อน้อยลง
2.ถาม : ถ้าเด็กนักเรียนติดเชื้อแล้ว จะมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือไม่
   ตอบ : เด็กเมื่อติดเชื้อแล้ว มักจะไม่แสดงอาการ ในส่วนน้อยที่แสดงอาการก็ไม่ค่อยรุนแรง และมีเด็กที่เสียชีวิตจากโควิดน้อยมาก    เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวจะเสียชีวิต 90-95% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนอายุน้อยกว่า 60 ปีไม่มีโรคประจำตัว เสียชีวิตเพียง 5-10% ส่วนในเด็กเสียชีวิตน้อยมากไม่ถึง 1%
3.ถาม : วัคซีนชนิดใดมีความปลอดภัยเหมาะสมที่จะฉีดในเด็กบ้าง
   ตอบ : วัคซีนทุกชนิดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) ถือว่ามีความปลอดภัยที่จะฉีดได้ทั้งสิ้น

Pfizer กับ Sinopharm นักเรียนควรฉีดตัวไหนดี
4.ถาม : วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติแล้วให้ฉีดในเด็กได้  มีอะไรบ้าง
   ตอบ :  อย.ไทยได้อนุมัติแล้วสองชนิด สำหรับฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปคือ Pfizer กับ Moderna และอยู่ในระหว่างกำลังพิจารณาอนุมัติให้กับ Sinopharm ในระดับโลก อนุมัติให้ฉีด Pfizer  และ Moderna ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ ส่วนที่ประเทศจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีการให้ฉีดวัคซีนเชื้อตายคือ Sinopharm ในเด็กอายุตั้งแต่สามขวบขึ้นไป ส่วนคิวบา อนุมัติให้ฉีดวัคซีนโปรตีนเป็นฐานตั้งแต่สองขวบขึ้นไป

5.ถาม : วัคซีนที่อนุมัติแล้วให้ฉีดในเด็กได้ มีข้อมูลความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงเป็นอย่างไรบ้าง
   ตอบ : Sinopharm ซึ่งเป็นวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย มีแนวโน้มที่จะสร้างความสบายใจมากกว่า เพราะใช้ผลิตวัคซีนในเด็กมานานนับ 10 ปี เช่น ไอกรน โปลิโอ ตับอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ และการฉีดในเฟสหนึ่งและสองที่ประเทศจีน รวมทั้งเฟสสามในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็พบว่าปลอดภัยดี ส่วนวัคซีน Pfizer ซึ่งเป็น เทคโนโลยี mRNA ณ ปัจจุบัน ก็ถือว่าปลอดภัยในการฉีดเด็ก แต่ในระยะยาวนานนับปี ยังจะต้องติดตามผลเรื่องความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงกันต่อไป

6.ถาม : วัคซีนของ Pfizer ที่ฉีดในเด็กอายุ 12-17 ปีแล้วนั้น มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
   ตอบ : วัคซีน Pfizer ถือว่ามีผลข้างเคียงในเด็กค่อนข้างน้อย สามารถฉีดได้ แต่ในผลข้างเคียงที่รุนแรงแม้พบน้อยมากที่ควรสนใจประกอบด้วย
6.1กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในทุกอายุพบ 12.6 รายต่อ 1 ล้านโดส โดยในเด็กจะพบมากกว่าในผู้ใหญ่ตั้งแต่ 1.2-27.3 เท่า
โดยในเด็กชายจะพบมากกว่าเด็กหญิง 7.7 เท่า และพบในวัคซีน Pfizer พบมากกว่า Moderna 2.5 เท่า
เด็กอายุ 12-15 ปี พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 21 รายต่อ 1 ล้านโดส
อายุ 16-17 ปี พบ 34 รายต่อ 1 ล้านโดส

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
6.2 แพ้รุนแรงแบบช็อก (Anaphylaxis) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 19 เท่าหรือ 95% และพบใน Pfizer มากกว่า Moderna ประมาณสองเท่า คือ 4.7 ราย เทียบกับ  2.5 ราย ต่อ 1 ล้านโดส
7.ถาม : วัคซีน Sinopharm มีผลข้างเคียงมากน้อยอย่างไร
   ตอบ : ยังไม่มีตัวเลขรายงานทางวิชาการอย่างเป็นทางการ แต่จากกรณีศึกษาทั้งในประเทศจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่ามีความปลอดภัยดี และมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคสูง
8.ถาม : ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนที่พร้อมฉีดในเด็กและได้รับการอนุมัติแล้วกี่ตัว
   ตอบ : วัคซีนที่พร้อมฉีดและได้รับการจดทะเบียนแล้วคือ Pfizer ส่วนที่ได้รับการอนุมัติแล้ว กำลังรอวัคซีนเข้ามาคือ Moderna และวัคซีนที่มีพร้อมฉีดและกำลังรอการอนุมัติจาก อย.คือ Sinopharm
9.ถาม : จากข้อมูลทั้งหมด ควรตัดสินใจอย่างไรดี
   ตอบ : จากข้อมูลทั้งหมด คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองก็พอจะประเมินได้ว่า ครอบครัวของท่านเป็นผู้ที่ให้น้ำหนักความกังวลต่อผลข้างเคียงของวัคซีนมาก หรือความกังวลต่อการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงมาก ซึ่งแต่ละครอบครัว ก็คงจะแตกต่างกันไป และในครอบครัวที่ตัดสินใจจะฉีดวัคซีน ก็คงต้องพิจารณาระหว่าง Pfizer ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ส่วน Sinopharm อยู่ระหว่างกำลังอนุมัติ
สุดท้ายนี้ ในครอบครัวที่ตัดสินใจจะฉีดวัคซีนให้กับบุตรหลานของตัวเองเพื่อไปโรงเรียน ขอให้สบายใจได้ในเบื้องต้นว่า วัคซีนที่ทางการร่วมกับทางโรงเรียนจะอนุมัติให้ฉีดกับบุตรหลานของท่านนั้น มีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย และมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคได้ดี
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยของวัคซีนแต่ละชนิด แต่ละครอบครัวก็คงตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ทางบทความนี้ให้ไปร่วมกับข้อมูลอื่นๆ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีนเด็กในประเทศไทย พบว่า 
กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำแบบฟอร์มเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้หน่วยงานและสถานศึกษาทุกสังกัด สามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้ในการดำเนินการ ที่เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ http://www.moe.go.th ดังนี้

Pfizer กับ Sinopharm นักเรียนควรฉีดตัวไหนดี
แบบสำรวจการฉีดวัคซีน Pfizer ในนักเรียน/นักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า แต่ละห้องเรียน
แบบสรุปจำนวนนักเรียน/นักศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า ที่มีความประสงค์รับวัคซีน Pfizer แยกแต่ละสถานศึกษา
แบบสรุปจำนวนนักเรียน/นักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า ที่มีความประสงค์รับวัคซีน Pfizer รายจังหวัด
เอกสารแสดงความประสงค์ของผู้ปกครองเพื่อให้นักเรียน/นักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า ฉีดวัคซีนไฟเซอร์
แบบคัดกรองก่อนรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับนักเรียน/นักศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง หนังสือแจ้งการฉีดวัคซีน Pfizer สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า
แบบสรุปผลการให้บริการวัคซีน Pfizer สำหรับนักเรียน/นักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่า
อย่างไรก็ดี ตาม Timeline การฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียน คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้นักเรียน นักศึกษา อายุ 12-18 ปี ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม (Pfizer 2 เข็ม ระยะห่างจะอยู่ที่ 3-4 สัปดาห์)