วัคซีน mRNA เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หมอยงชี้พบมากในเพศชาย-อายุน้อย

20 ก.ย. 2564 | 01:12 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2564 | 15:05 น.

หมอยงเผยวัคซีน mRNA เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ชี้พบมากในเพศชาย อายุน้อย ส่วนใหญ่พบในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก ระบุโรคโควิด-19 ในเด็ก อายุ 12 -17 ปี จะมีอาการไม่มาก หรือเสียชีวิตน้อยมาก

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 ในเด็ก และการให้วัคซีน
หมอยง ระบุว่า โรคโควิด-19 (Covid-19) ในเด็ก อายุ 12 -17 ปี จะมีอาการไม่มาก หรือเสียชีวิตน้อยมาก 
จากการศึกษาในอเมริกาช่วงการระบาด 120 วัน เด็กวัยรุ่น 1 ล้านคน ผู้ชายเสียชีวิต 2 คน ถ้าเป็นผู้หญิงเสียชีวิต 1 คน 
การติดเชื้อในเด็กส่วนมากจะรับเชื้อมาจากผู้ใหญ่ เช่นผู้ปกครอง ครอบครัว ครูและบุคลากรในโรงเรียน
เมื่อเด็กมารวมกันเป็นกลุ่ม จะเป็นต้นเหตุของการระบาดได้
การให้วัคซีนในผู้ใหญ่จึงมีความสำคัญในการป้องกันเด็ก และการให้วัคซีนในเด็กจะต้องมีความปลอดภัยสูง
วัคซีน mRNA อาการข้างเคียงที่สำคัญคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
อายุน้อยพบมากกว่าผู้ที่สูงอายุ
เพศชายพบมากกว่าเพศหญิง
ส่วนใหญ่พบในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก

ประเทศ อังกฤษ สวีเดน และฮ่องกง ให้ฉีดเพียงเข็มเดียว 
การฉีดเข็มเดียวภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น ไม่เพียงพอ 
เมื่อมีวัคซีน mRNA กระทรวงสาธารณสุข ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการ วัคซีน mRNA มีอยู่ข้อหนึ่งว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดใดมาก็ตาม สามารถฉีดวัคซีน pfizer เป็นเข็มที่ 2  โดยกำหนดระยะห่างตามวัคซีนเข็มแรก 
บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตาย sinovac หรือ sinopharm แล้วฉีด pfizer เข็มที่ 2  น่าจะได้มีการรวบรวมอาการข้างเคียง 
ทางศูนย์ก็ยินดีที่จะตรวจภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังจากการฉีดดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการใช้ในเด็กวัยรุ่น ในการให้วัคซีน mRNA เพียงเข็มเดียว เพื่อลดการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

วัคซีน mRNA เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กต่างประเทศพบว่า 
ประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในเด็กกลุ่มอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม
ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในเดือนพฤษภาคม ต่อมาในเดือนสิงหาคมได้มีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 3-17 ปี
ประเทศอินโดนีเซีย อนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวค กับกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ในวันที่ 28 มิถุนายน
ประเทศสิงคโปร์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน
ประเทศญี่ปุ่น อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-16 ปี ในเดือนมิถุนายน
ประเทศฟิลิปปินส์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม
ประเทศนิวซีแลนด์ อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน
ประเทศเม็กซิโก อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ กับกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน

ประเทศบราซิล อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน
ประเทศแคนาดา อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม
ประเทศชิลี อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-16 ปี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม
ประเทศปารากวัย อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี เฉพาะที่มีโรคประจำตัวเท่านั้น
ประเทศอิสราเอล อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปี ในเดือนมิถุนายน
สำหรับชาติสมาชิกอียูที่ฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ประกอบด้วย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย เอสโตเนีย ฮังการี อิตาลี ลิทัวเนีย สเปน โดยส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกวัคซีน mRNA เกือบทั้งหมด
ส่วนประเทศไทยนั้น ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการ มีมติเมื่อ 10 กันยายน 64  อนุมัติหลักการให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียนและนักศึกษากว่า 4.5 ล้านคน เพื่อป้องกันโควิด-19 (Covid-19) รองรับการเปิดภาคเรียน