รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 27 กันยายน 2564...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 322,647 คน รวมแล้วตอนนี้ 232,576,612 คน ตายเพิ่มอีก 4,894 คน ยอดตายรวม 4,761,524 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ สหราชอาณาจักร อินเดีย ตุรกี อเมริกา และรัสเซีย
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 24,343 คน รวม 43,750,983 คน ตายเพิ่ม 259 คน ยอดเสียชีวิตรวม 706,317 คน อัตราตาย 1.6%
อินเดีย ติดเพิ่ม 27,022 คน รวม 33,678,243 คน ตายเพิ่ม 277 คน ยอดเสียชีวิตรวม 447,225 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 8,668 คน รวม 21,351,972 คน ตายเพิ่ม 238 คน ยอดเสียชีวิตรวม 594,484 คน อัตราตาย 2.8%
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 32,417 คน ยอดรวม 7,664,230 คน ตายเพิ่ม 58 คน ยอดเสียชีวิตรวม 136,168 คน อัตราตาย 1.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 22,498 คน รวม 7,420,913 คน ตายเพิ่ม 805 คน ยอดเสียชีวิตรวม 203,900 คน อัตราตาย 2.7%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี ฝรั่งเศส อิหร่าน อาร์เจนติน่า และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 93.75 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ติดเพิ่มกันหลักหมื่น
ญี่ปุ่น เมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา และลาว ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และไต้หวัน ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
สถานการณ์ภาพรวมของโลก เฉลี่ยแล้วมีจำนวนการติดเชื้อรายสัปดาห์ลดลง 12% และจำนวนการเสียชีวิตลดลง 10%
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายทวีป จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น ทั้งเอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอฟริกา ยกเว้นทวีปยุโรป ที่มีจำนวนการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2% และจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่แถบโอเชียเนียจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14% แต่จำนวนการติดเชื้อลดลง 3%
สถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานจำนวนการติดเชื้อใหม่ 12,353 คนนั้น สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก
แต่หากรวม ATK ด้วย จะเขยิบสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก
ที่ยังน่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือ จำนวนการเสียชีวิตหลักร้อยอย่างต่อเนื่อง เมื่อวานสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน
หนึ่ง วัคซีนแต่ละชนิดที่ได้รับการนำมาใช้ในแต่ละประเทศนั้น มีข้อมูลวิชาการทั้งประสิทธิผล (efficacy) ประสิทธิภาพ (effectiveness) และอาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องระมัดระวังที่มากน้อยแตกต่างกันไป ประชาชนจึงจำเป็นจะต้องหาความรู้ ทำความเข้าใจ และตัดสินใจให้เหมาะสมกับตัวเราและครอบครัว
ทั้งนี้ขอให้ตระหนักไว้ว่า ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันถูกส่งต่อหรือเผยแพร่มากมาย หลายต่อหลายเรื่องก็มีการบิดเบือน เพื่อให้เข้าใจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องตรวจสอบก่อนจะปักใจเชื่อ และหากไม่แน่ใจก็ให้สอบถามเพิ่มเติมจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ท่านไว้ใจเชื่อใจ
สอง อเมริกานั้นเคยระบาดหนักมาก่อน และฉีดวัคซีน mRNA และบางส่วนก็มีการใช้วัคซีน Ad26 vector ในประชากรของเค้า จนสามารถควบคุมโรคได้ดี การเกิดระบาดซ้ำขึ้นมาในปัจจุบัน ไม่ได้แปลว่าวัคซีนไม่ได้ผล แต่เกิดจากการแพร่ระบาดในกลุ่มประชากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน (outbreaks among unvaccinated) และบางส่วนเกิดจากการที่ประชากรที่ได้รับวัคซีนไปนาน แล้วภูมิคุ้มกันลดลงไป จึงต้องมีการพิจารณาเรื่องฉีดเข็มกระตุ้น ดังที่หลายคนที่ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดคงจะทราบกันดี ซึ่งล่าสุด US CDC ก็ได้ออกมาแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มกระตุ้นให้สำหรับประชากรกลุ่มต่างๆ ดังที่เคยเล่าให้ฟังไปวันก่อน
ข้อมูลทางการแพทย์สากลยืนยันชัดเจนว่าในแง่ของประสิทธิผลและประสิทธิภาพนั้น mRNA vaccines สูงกว่าวัคซีนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม วัคซีนแต่ละชนิดจะมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป เช่น ChAdOx vector อาจต้องระวังลิ่มเลือดอุดตันในสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอายุน้อยกว่า 50-60 ปี, mRNA vaccines อาจต้องระวังเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อบุหัวใจอักเสบในคนอายุน้อยกว่า 30 ปี โดยมีโอกาสเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง, วัคซีนเชื้อตายอาจไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง แต่อาจกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้ไม่สูงนักและภูมิคุ้มกันลดลงเร็ว เป็นต้น
ดังนั้นประเทศที่วางแผนวัคซีนอย่างรอบคอบจึงควรมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง มีความหลากหลาย ให้สามารถเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละเพศ และวัยของประชากร ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้
การเสริมสร้างให้ประชาชนในประเทศมีทักษะในการรับรู้รับฟังข้อมูลข่าวสารโดยไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณ ทำความเข้าใจตามหลักเหตุและผล และใช้ข้อมูลวิชาการแพทย์ที่พิสูจน์ได้เป็นตัวตัดสินใจ จะทำให้ประชาชนมีสมรรถนะในการรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างดี
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-25 ก.ย.64 มีการฉีดวัคซีนสะสมจำนวน 50,101,055 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 31,352,795 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 17,667,069 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 1,080,391 ราย และเข็มที่ 4 จำนวน 800 ราย