29 ก.ย.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันช่วงหนึ่งว่า กรมควบคุมโรค รายงานว่า ยังมีการติดเชื้อในชุมชน มีการรวมกลุ่ม เช่น โรงเรียนนายสิบ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือ ในการหลายจังหวัด มีการติดเชื้อในฤดูเก็บผลไม้ ที่มีแรงงานต่างด้าว สัมผัสใกล้ชิด รวมถึงโรงงาน และงานศพ มีรายงานของ จันทบุรี สงขลา อย่างที่เรียนว่า การจัดงานศพ เป็นการให้เกียรติ เคารพ ผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ขอให้รักษามาตรการอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย งดการจัดเลี้ยง อาหารร่วมกัน
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ 4 ต.ค. มีเทศกาลกินเจ ขอให้ทางจังหวัดตรวจสอบมาตรการเข้มงวด โดยเฉพาะโรงเจ ผู้ประกอบการ ต้องมีการจัดสถานที่ที่เหมาะสม มาตรการเฝ้าระวัง คุมโรคเข้มงวด ผู้ดำเนินการ ต้องใช้มาตรการ COVID-Free setting หรือโรงเจปลอดโควิด เพื่อความปลอดภัย อาจจะให้พนักงานฉีดวัคซีน และตรวจเชื้อ ATK เพื่อความปลอดภัยของผู้ไปร่วมงาน และผู้ร่วมงานเปรียบเสมือนลูกค้า ขอให้การเดินทาง การใช้เวลาในสถานที่โรงเจหรือที่ประกอบกิจกรรมประเพณี เป็นไปอย่างเข้มงวด ระมัดระวัง และปลอดภัย
“ขณะที่เรายังคงต้องดำเนินชีวิตร่วมกับโควิด การปรับวิถีใหม่โดยโควิดยังคงอยู่ ผู้ประกอบการ ผู้จัดงาน ประชาชน ต้องร่วมคิดร่วมสร้าง จัดงานวิถีใหม่ หาวิธีว่าจะจัดอย่างไร เพื่อยังคงวัฒนธรรมประเพณีดีงาม และปลอดภัยสำหรับเจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน เป็นสิ่งท้าทายที่เราจะต้องก้าวผ่านไปให้ได้ กับวิถีชีวิตแนวใหม่ ขอให้ทุกท่านถือว่าเราเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่อยากให้สถานการณ์ดีขึ้น”พญ.อภิสมัย กล่าว
เปิดข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 34
ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34)
ข้อ 1 ให้การกําหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุม แบบบูรณาการจําแนกเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโค โรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564 ยังคงบังคับใช้ต่อไป
ข้อ 2 ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานระหว่าง เวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2564 โดยให้การกําหนดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่และกรณีของบุคคลที่ได้รับยกเว้น ที่ได้ประกาศหรือได้อนุญาตไว้ก่อนหน้านี้ยังคงใช้บังคับต่อไป
ข้อ 3 ให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามที่กําหนดไว้ในข้อกําหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ต่อการแพร่โรค การใช้เส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางข้ามจังหวัด การขนส่งสาธารณะ และการปฏิบัติงานนอกสถานที่ทําการ (Work from Home) ของส่วนราชการ หน่วยงาน ของรัฐและเอกชนยังคงให้ดําเนินการอย่างเต็มความสามารถที่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติได้
รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติสําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กําหนดขึ้นเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกําหนดนี้ ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2564
ข้อ 4 ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กํากับดูแลและติดตามการดําเนินการของสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมในพื้นที่ สถานการณ์ที่กําหนด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้ปรับมาตรการตามข้อกําหนดนี้ เพื่อให้เปิดดําเนินการได้ โดยให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จัดเตรียมสถานที่
การตรวจสอบระบบหมุนเวียนระบายอากาศ การกํากับดูแลความพร้อมของบุคลากร ผู้ให้บริการ และปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคต่างๆ ตามที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งมาตรการที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกําหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
(1) โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท : ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่ เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทํากิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นจํานวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความจําเป็น และ การดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
(2) สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานที่ให้การดูแล หรือสถานสงเคราะห์อื่นที่เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่เด็ก : ให้เปิดดําเนินการได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตการใช้สถานที่ตามความเหมาะสมของสถานที่นั้นๆ โดยปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดอย่างเคร่งครัด
(3) ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม : สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือ เครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มี แอลกอฮอล์ในร้าน และจํากัดจํานวนผู้นั่งบริโภคในร้าน
หากเป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศ ให้มีจํานวนผู้นั่งบริโภคไม่เกิน ร้อยละ ๕๐ ของจํานวนที่นั่งปกติ
แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจํานวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ 75 ของจํานวนที่นั่งปกติ
การแสดงดนตรีในร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม : สามารถทําได้โดยมีผู้แสดงไม่เกินจํานวน ๕ คน ที่ต้องมีการเว้นระยะห่างและงดการติดต่อสัมผัสกับผู้ใช้บริการ และให้นักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยหรือ หน้ากากผ้าตลอดเวลา โดยอนุโลมให้เฉพาะนักร้องและนักดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีประเภทเป่าที่อาจถอด หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้ขณะทําการแสดง
มาตรการนี้ให้ใช้บังคับมาตรการนี้กับร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า | ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
(4) ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด หรือตลาดนัด : เฉพาะการจําหน่ายสินค้าอุปโภคหรือบริโภค ให้เปิด ดําเนินการได้ตามเวลาปกติจนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา โดยจํากัดเวลาสําหรับร้านสะดวกซื้อที่ตามปกติเปิด ให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดการให้บริการในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น
(5) ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ทุกประเภท บ้านหนังสือ หอศิลป์ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน : สามารถเปิดดําเนินการได้ และจํากัดจํานวนผู้ใช้บริการ โดยอาจพิจารณาตามเกณฑ์ของขนาดพื้นที่ตามแนวปฏิบัติที่ กระทรวงสาธารณสุขกําหนด หรือไม่เกินร้อยละ 75 ของจํานวนผู้เข้าใช้บริการที่สามารถรองรับ ได้ตามปกติ และให้ผู้ใช้บริการงดบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มขณะเข้าชมหรือใช้บริการ
รวมทั้ง งดการทํากิจกรรมที่อาจทําให้เกิดความแออัด โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดอย่างเคร่งครัด
(6) โรงภาพยนตร์ : สามารถเปิดดําเนินการได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา
(7) สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ร้านทําเล็บ และร้านสัก : สามารถเปิด ดําเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา
โดยกําหนดเงื่อนไขสําหรับร้านสักที่จะให้บริการได้เฉพาะผู้รับบริการที่แสดงหลักฐานว่า
ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกําหนด
หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ในระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมง ก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT-PCR หรือโดยชุดตรวจและน้ํายาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test Kits : ATK)(ชุดตรวจ ATK)
(8) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย : สามารถเปิด ดําเนินการและให้บริการผ่านการนัดหมายได้ โดยจํากัดเวลาการให้บริการไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมงจนถึง เวลา 21.00 นาฬิกา และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนดอย่างเคร่งครัด
ยกเว้นการอบตัว อบสมุนไพร และการอบไอน้ํา ที่ยังไม่อนุญาตให้ดําเนินการ
โดยกําหนดเงื่อนไขเฉพาะการให้บริการประเภทการใช้น้ําเพื่อสุขภาพในกิจการสปา ที่ผู้เข้ารับ บริการต้องแสดงหลักฐานว่า
ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกําหนด
หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT-PCR หรือโดยการใช้ชุดตรวจ ATK
(9) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ําเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ํา เพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ําสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกําลังกายประเภทกลางแจ้งหรือ ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สถานกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกําลังกายประเภทในร่มที่อากาศ ถ่ายเทได้ดี : ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา
สถานที่ออกกําลังกาย ยิมหรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ : ให้เปิดได้ไม่เกิน เวลา 21.00 นาฬิกา และงดเว้นการให้บริการอบตัวหรืออบไอน้ํา โดยปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันโรคที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกําหนดอย่างเคร่งครัด
(10) การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา : ให้คณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
กรณีการจัดแข่งขันประเภทกีฬากลางแจ้ง สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชม ในสนามไม่เกินร้อยละ 25 ของความจุสนาม
และผู้เข้าชมในสนามต้องแสดงหลักฐานว่า
- ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกําหนด
-หรือมีหลักฐานแสดงผลการตรวจที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ใน ระยะเวลา 72 ชั่วโมง ก่อนการใช้บริการโดยวิธี RT-PCR หรือโดยการใช้ชุดตรวจ ATK
กรณีประเภทกีฬาในร่ม สามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม
และต้องดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด
สําหรับการใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติ : ให้เข้าใช้ สถานที่ได้ โดยไม่มีผู้ชมในสนาม และต้องดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด อย่างเคร่งครัด
(11) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะ คล้ายกัน : สามารถเปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 นาฬิกา เว้นแต่กิจการหรือ กิจกรรมบางประเภทดังต่อไปนี้ที่ยังคงกําหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดการดําเนินการไว้ก่อน
ก. โรงเรียนและสถาบันกวดวิชา : สามารถเปิดดําเนินการได้ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณีพิจารณาอนุญาตการใช้สถานที่ เพื่อความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
ข. โรงภาพยนตร์ : สามารถเปิดดําเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดใน (6)
ค. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านทําเล็บ ร้านสัก : สามารถเปิด ดําเนินการและให้บริการได้ผ่านการนัดหมายและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดใน (7)
ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม : ให้เปิดดําเนินการผ่านการนัดหมายและจํากัดเวลา การให้บริการไม่เกินรายละ 2 ชั่วโมงตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า
ง. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย : สามารถ เปิดดําเนินการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดใน (8)
จ. สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกําลังกาย ยิม ฟิตเนส : ให้เปิดดําเนินการได้โดยปฏิบัติตาม เงื่อนไขที่กําหนดใน (9) และ (10)
ฉ. สวนสนุก สวนน้ํา ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุม : ยังคงให้ปิด การดําเนินการในช่วงเวลานี้ไว้ก่อน
(12) การถ่ายทําภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือการถ่ายทําสื่อในลักษณะคล้ายกัน : สามารถทําได้ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการและแนวปฏิบัติตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า
กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการถ่ายทําไม่เกิน ๕๐ คน ให้ดําเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการถ่ายทําเกิน ๕๐ คน ให้ดําเนินการตามขั้นตอนในการขออนุญาตจัดกิจกรรม
หน่วยงานกํากับดูแลรับผิดชอบ
สํานักงาน กสทช. : กํากับดูแลรายการโทรทัศน์ ข่าว ละคร และรายการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันที่ ออกอากาศทางโทรทัศน์หรือผ่านสื่อออนไลน์
กระทรวงวัฒนธรรม : กํากับดูแลภาพยนตร์และวีดิทัศน์
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา : กํากับดูแลภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศที่ถ่ายทําในประเทศไทย
(13) โรงมหรสพ โรงละคร ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความเหมาะสมให้มีการจัดแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน หรือการแสดงอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้ ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา โดยจํากัดจํานวนผู้แสดงและเจ้าหน้าที่รวมไม่เกิน 50 คน
และให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา อนุโลมให้ขณะแสดงบนเวที ที่อาจถอดหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าได้โดยงดการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล
และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กําหนดอย่างเคร่งครัด
ข้อ 5 การเตรียมการเปิดพื้นที่นําร่องการท่องเที่ยว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงาน ของรัฐ ภาคเอกชนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อม เพื่อการดําเนินการขับเคลื่อน ด้านเศรษฐกิจของประเทศตามแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นําร่องการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ดําเนินการระยะนําร่องแล้วในบางพื้นที่และจะได้ดําเนินการอย่างต่อเนื่อง ในอนาคต โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้ง จะได้กําหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ขึ้นเพื่อการบังคับใช้เป็นการเฉพาะต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป