รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
Long COVID หรืออาการยืดเยื้อเรื้อรังไม่ยอมหายสนิทหลังป่วยโควิด พบมากถึง 36.5% อันดับหนึ่งคือกังวลและซึมเศร้า
จากการระบาดของโควิดทั่วโลก ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 233 ล้านคน และเสียชีวิตไป 4.78 ล้านคนนั้น
ในจำนวนผู้ติดเชื้อที่หายป่วยดีแล้ว จากการติดตามทางการแพทย์ พบว่า มีอาการยืดเยื้อเรื้อรังหายไม่สนิท หรือที่เรียกกันว่า Long COVID-19 เป็นจำนวนมาก
จึงได้มีการรวบรวมตัวเลขว่า มีอาการอะไรบ้าง และพบมากน้อยเพียงใด
จากการรวบรวมเวชระเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วยโรคต่างๆจำนวน 81 ล้านราย โดยเป็นผู้ป่วยโควิด 273,618 ราย พบว่า
เมื่อหายป่วยแล้วนาน 3-6 เดือน ยังคงมีอาการที่เกี่ยวข้องกับโควิดอีก 9 อาการด้วยกัน ประกอบด้วย
1.กังวลและซึมเศร้า 15.49%
2.อาการผิดปกติในช่องท้อง 8.29%
3.หายใจลำบากติดขัด 7.94%
4.ปวดตามที่ต่างๆ 7.19%
5.อ่อนเพลีย 5.87%
6.เจ็บหน้าอก 5.71%
7.ปวดศีรษะ 4.63%
8.มีปัญหาในการเรียนรู้ 3.95%
9.ปวดกล้ามเนื้อ 1.54%
โดยพบผู้ที่หายป่วยจากโควิดแล้ว ยังคงมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหลงเหลืออยู่มากถึง 36.55% ในช่วง 3-6 เดือนหลังจากป่วย แต่ถ้านับตลอดตั้งแต่ป่วยจนครบหกเดือน จะพบมากถึง 57%
โดยอาการยืดเยื้อเรื้อรังที่เรียกว่า Long COVID นี้ พบมากกว่าอาการที่เรื้อรังหลังจากหายป่วยจากไข้หวัดใหญ่มากถึง 1.4-2.0 เท่า
จึงเป็นการรวบรวมข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ สำหรับคนที่คิดว่าไม่อยากฉีดวัคซีน และก็ไม่อยากระมัดระวัง เห็นว่าตนเองอยู่ในวัยหนุ่มสาว อัตราการเสียชีวิตน้อย จึงตัดสินใจว่าติดโควิดไปเลยดีกว่า ก็จะถือว่ามีความเสี่ยงมาก เพราะ
1.เมื่อหายป่วยจากโควิดแล้วระดับภูมิคุ้มกันไม่ได้สูงอย่างที่คิด คือสูงน้อยกว่าฉีดวัคซีน ที่สำคัญคือภูมิคุ้มกันก็อยู่ไม่นาน และตกในเวลาอันรวดเร็ว สามารถติดเชื้อใหม่ได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องกลับมาฉีดวัคซีน
2.เมื่อหายป่วยจากโควิด คือไม่เสียชีวิต แต่ก็จะมีอาการยืดเยื้อเรื้อรังที่เรียกว่า Long COVID รบกวนชีวิตไปอีกนานเท่าไหร่ยังไม่ทราบ แต่อย่างน้อยขณะนี้คือ รบกวนไปอีกหกเดือนหลังป่วย
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 30 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 11,646 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,526 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 120 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,574,612 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 107 ราย หายป่วย 10,887 ราย กำลังรักษา 116,075 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,443,247 ราย