เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เต็มความจุ เตือนท้ายเขื่อนขนของด่วน!

30 ก.ย. 2564 | 07:44 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 15:13 น.

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระดับน้ำเต็มความจุ เร่งระบายน้ำ พร้อมเตือนพื้นที่ท้ายเขื่อนขนของด่วน! ตรวจสอบจังหวัดที่ได้รับผลกระทบที่นี่ ด้านกรมชลประทาน เผยน้ำเหนือยังไหลหลาก ส่งผลเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น แต่ยันไม่กระทบพื้นที่ชั้นในกทม.และปริมณฑล

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี รายงานว่า ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขนของด่วน โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 นายนิพนธ์  บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งในวันนี้ระบายน้ำ 1,200 ลบ.ม./วินาที อีกประมาณ 7 ชม.จะถึงตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย และอีก 24 ชม.จะถึงเขื่อนพระราม 6  ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ขณะที่น้ำในเขื่อนป่าสักฯ อยู่ที่ 1014.15 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 105.64%

 

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี  รายงานเพิ่มเติมว่า เขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำ 1,014.45 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็น 105.64 % (ระดับเก็บกักนั้สูงสุด 960 ล้าน ลบ.เมตร) โดยปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 153.40 ล้าน ลบ.เมตร/วัน  ระบายน้ำ 1,200 ลบ.เมตร/วินาที  หรือ 103.72 ล้าน ลบ.เมตรต่อวัน และระดับน้ำท้ายเขื่อน +30.94 ม.รทก.

 

สถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
 

ขณะที่กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำเพิ่มเติม  โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำป่าสัก คาดว่ามีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ในลุ่มน้ำปิงจากบริเวณคลองสวนหมาก อำเภอเมืองกำแพงเพชร 130 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) และคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร 84 ลบ.ม./วินาที ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 2,600 - 2,800 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำหลากจากแม่น้ำสะแกกรังไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จังหวัดอุทัยธานี ในอัตรา 400 ลบ.ม./วินาที โดยประเมินว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 3,100 ลบ.ม./วินาที

 

กรมชลประทาน ประเมินสถานการณ์น้ำ พร้อมเปิดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

 

สำหรับการบริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ร่วมกับการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำ จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,700 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพความปลอดภัยและความมั่นคงของเขื่อน จึงจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในอัตรา 900 - 1,200 ลบ.ม./วินาที 
 

โดยจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (C.29A) อยู่ในอัตราประมาณ 3,000 – 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.20 - 2.40 เมตร และด้านท้ายเขื่อนพระรามหก จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2.30 - 2.80 เมตร ในช่วงวันที่ 1 – 5 ตุลาคม 2564 


ทั้งนี้จะส่งผลกระทบกับพื้นที่ ดังนี้ 

 

  • จังหวัดชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตำบลโพนางดำออก อำเภอสรรพยา
  • จังหวัดสิงห์บุรี แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเสือข้าม วัดสิงห์ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี
  • จังหวัดอ่างทอง คลองโผงเผง และแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดไชโย อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมก 
  • จังหวัดลพบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณอำเภอพัฒนานิคม
  • จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอหักไห่ และริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง อำเภอพระนครศรีอยุธยาจรดแม่น้ำเจ้าพระยา
  • จังหวัดสระบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อำเภอวังม่วง อำเภอแก่งคอย อำเภอเมือง อำเภอเสาไห้ และอำเภอบ้านหมอ 
  • จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
  • กรุงเทพมหานคร แนวคันกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

 

สถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา

กรมชลประทาน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยงและพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ พร้อมทั้งได้ประสานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งผู้ประกอบกิจการ ในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาให้ทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง 

 

อีกทั้งทำการปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ 


กรมชลประทาน ประเมินสถานการณ์น้ำ พร้อมเปิดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ