ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 และหวังให้เด็กกลับมาเรียนตามปกติให้ได้เร็วที่สุด
เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีบุตรหลานในวัยเรียนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,089 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน 2564
สรุปผล ได้ ดังนี้
หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่าหนึ่งเรื่อง(ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีบุตรหลานในวัยเรียน ต่อกรณี“การฉีดวัคซีนให้กับเยาวชนอายุ 12-17 ปี” ว่า สำรวจจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,089 คน ระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน 2564 พบว่า ประชาชนที่มีบุตรหลานพร้อมให้บุตรหลานไปฉีดวัคซีน ร้อยละ 61.43 ขอรอดูก่อน ร้อยละ 26.17 และไม่พร้อม ร้อยละ 12.40
โดยเชื่อมั่นต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ร้อยละ 64.72 คิดว่าการฉีดวัคซีนมีผลดีมากกว่าผลเสีย ร้อยละ 46.74 มีทั้งผลดีและผลเสียพอ ๆ กัน ร้อยละ 40.96 เรื่องที่เป็นห่วงคืออาการข้างเคียงหลังฉีด ร้อยละ 77.59
ทั้งนี้ อยากให้จัดการฉีดวัคซีนให้ที่โรงเรียน ร้อยละ 64.13 และเห็นด้วยกับการฉีดวัคซีนเพื่อให้เปิดเรียนได้ตามปกติ ร้อยละ 75.44
ผู้ปกครองพร้อมให้บุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีน ถึงแม้ยังกังวลเรื่องผลข้างเคียง โดยคาดว่าจะช่วยให้บุตรหลานสามารถไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยลดระดับความเครียดของผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานที่บ้านอีกด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลโพลในต่างประเทศ พบว่าผู้ปกครองยังไม่พร้อมมากนักเพราะยังกังวลผลในระยะยาว
วัคซีนสำหรับเด็กอาจเป็นตัวเปลี่ยนสถานการณ์โควิด-19 ได้ และเด็กทุกคนรวมถึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วก็ควรได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีน ซึ่งการฉีดวัคซีนที่ป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการฟื้นฟูด้านการศึกษาและเศรษฐกิจของประเทศ
อาจารย์ ดร.รุ่งนภา ป้องเกียรติชัย ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ชี้ จากผลการสำรวจพบว่าประชาชนมีความพร้อม ที่จะให้บุตรหลานเข้ารับวัคซีน อาจเนื่องจากความเชื่อมั่นในการป้องกันอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ประกอบกับข้อมูลที่พบว่าหลายประเทศได้เริ่มมีการฉีดให้กับเด็กในวัยนี้ จึงทำให้เห็นว่ามีผลดีมากกว่าผลเสีย โดยเฉพาะเรื่องการเปิดโรงเรียนเพื่อเรียนได้ตามปกติ
แต่อย่างไรก็ตามจากผลการสำรวจพบว่า ประชาชนยังกังวลเกี่ยวกับอาการข้างเคียงของการได้รับวัคซีน เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่จะเกิดในเด็กที่ได้รับวัคซีนแล้ว อาจยังมีค่อนข้างน้อย และสำหรับประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นในการฉีดวัคซีนให้กับเด็กกลุ่มนี้ ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจ หรือลดความเป็นห่วง
ทั้งนี้ การสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รวมถึงวิธีการปฏิบัติตัวก่อนและหลังรับวัคซีน และข้อมูลเกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เป็นต้น จะช่วยลดความกังวลลงได้