ศปก.ศบค.เตรียมเสนอมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม

06 ต.ค. 2564 | 06:34 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2564 | 14:54 น.

ศปก.ศบค.เตรียมเสนอศบค.ชุดใหญ่ พิจารณามาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่มลดลงต่ำกว่า 100 ราย

วันที่ 6 ต.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2564 ช่วงหนึ่งว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) เตรียมเสนอ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณามาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ตัวเลขเริ่มลดลง

“30 จังหวัด ในพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่มมีหลายจังหวัดที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม ตัวเลขเริ่มลดลงต่ำกว่า 100 ราย ได้แก่ อ่างทอง สิงห์บุรี ตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญในจังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วยอาการหนักลดลง ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก กำลังเตรียมข้อมูลเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ เพื่อดำเนินการ ผ่อนคลายในอีก 2 สัปดาห์นับจากนี้” ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว มีรายงานการติดเชื้อในตัวเลขที่ สาธารณสุขยังรองรับไหว คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะสมุย มีรายงานคลัสเตอร์โรงเรียน ตรงนี้เมื่อมีการเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ไม่ได้แปลว่าไม่มีการติดเชื้อ แต่ขอให้อยู่ในเกณฑ์ที่ตรวจพบเร็ว ค้นแยกคนติดเชื้อออกมาให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามเป็นคลัสเตอร์ไประบาดในครอบครัวชุมชน และหากจังหวัดพื้นที่นำร่องเหล่านี้ สามารถนำเสนอมาตรการที่ดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัยได้อย่างเหมาะสม ศบค. ก็สามารถจะยังคงให้การผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องได้

ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,866 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,797 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,008 ราย 
  • จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 45 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 16 ราย
  • เสียชีวิตเพิ่ม 102 ราย

ศปก.ศบค.เตรียมเสนอมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม

 

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,667,097 ราย รักษาตัวอยู่ 108,022 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 1,541,770 ราย เพิ่มขึ้น 10,115 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม(ตั้งแต่ปี 63) 17,211 ราย