กทม.ติดโควิดลดลง1.9 เท่า-ตจว.ติดเชื้อพุ่ง 1.4 เท่าเหตุฉีดวัคซีนต่างกัน

07 ต.ค. 2564 | 00:59 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2564 | 07:58 น.

หมอเฉลิมเผยข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยระบุกรุงเทพมหานครติดโควิดลดลง1.9 เท่า ขณะที่ต่างจังหวัดติดเชื้อพุ่ง 1.4 เท่า ชี้สาเหตุจากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมไม่เท่ากัน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ประเทศเดียวกัน แต่แตกต่างกันมาก กรุงเทพฯติดโควิดน้อยลง 1.9 เท่า ต่างจังหวัดติดโควิดเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า เหตุจากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมไม่เท่ากัน
สถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกที่สาม (Third wave) ของประเทศไทย ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุด (Peak) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึง 23,418 ราย และวันที่ 18 สิงหาคม 2564 จำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุด 312 ราย หลังจากนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ก็ทยอยลดลงเป็นลำดับ
เมื่อดูค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ การลดลงมีแนวโน้มที่เบาใจขึ้นได้ แต่ยังประมาทไม่ได้
เมื่อดูในรายละเอียด เปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพและ 5 จังหวัดปริมณฑล (รวมนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) จะพบว่ามีอัตราการติดเชื้อเพิ่มรายวันลดลงกว่าเดิมคือ ค่าเฉลี่ยเดิม 45% ปัจจุบันเหลือติดเชื้อเพียง 23% เป็นการลดลง 1.9 เท่า
ในขณะที่ต่างจังหวัดที่เหลืออีก 71 จังหวัด มีอัตราการติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นจากเดิม 55% เป็น 77% หรือเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า

โดยการติดเชื้อเพิ่มรายวันของ 4 จังหวัดภาคใต้ มีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่า 67 จังหวัดที่เหลือ
ส่วนตัวเลขการฉีดวัคซีน เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม
โดยการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่ง
กรุงเทพฯและปริมณฑลฉีด 80.4% 
ต่างจังหวัดฉีด 37.3% 
แตกต่างกันถึง 2.2 เท่า
ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง
กรุงเทพฯและปริมณฑลฉีด 47.5% 
ต่างจังหวัดฉีด  24.7% 
ต่างกันถึง 1.9 เท่า

กทม.ติดโควิดลดลง-ต่างจังหวัดติดมากขึ้น
จึงเห็นได้ชัดเจนถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน ที่ยิ่งฉีดได้ครอบคลุมประชากรมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้การติดเชื้อรายใหม่ลดลงมากเท่านั้น
การที่รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงที่ผ่านมา ก็เนื่องจากมีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และได้เห็นประสิทธิผลของวัคซีนในภาพรวม ที่ทำให้อัตราการติดเชื้อในกรุงเทพฯและปริมณฑลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนในเขตต่างจังหวัด ซึ่งมีการติดเชื้อน้อยกว่าในช่วงที่ผ่านมา จึงได้รับวัคซีนช้ากว่านั้น
เมื่อในขณะนี้ มีการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนในต่างจังหวัด ให้มีอัตราครอบคลุมเท่ากับวัคซีนที่ฉีดในกรุงเทพฯและเขตปริมณฑลโดยเร็ว ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง เพราะขณะนี้ทางการได้จัดหาวัคซีนมาเพียงพอที่จะฉีดได้ถึง 100 ล้านเข็ม ภายในสิ้นปีนี้แล้ว
จะทำให้จังหวัดต่างๆได้รับการฉีดวัคซีน ในอัตราครอบคลุมที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร ก็จะทำให้อัตราการติดเชื้อใหม่ในเขตต่างจังหวัดลดลงมาใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะทำให้ภาพรวม การติดเชื้อของประเทศไทยลดลงไปมากยิ่งขึ้น

โดยวัคซีนที่ฉีดในช่วงที่ผ่านมากว่า 55 ล้านเข็มนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนเชื้อตายคือ Sinovac (20.27 ล้านเข็ม) และ Sinopharm (8.99 ล้านเข็ม)
ตามด้วยวัคซีนไวรัสเป็นตัวนำคือ AstraZeneca (25.19 ล้านเข็ม)
โดยที่มีวัคซีน mRNA ของ Pfizer เป็นส่วนน้อย (1.46 ล้านเข็ม)
แต่ก็ทำให้เห็นประสิทธิผลของวัคซีน ที่ได้มีการระดมฉีดในช่วงที่ผ่านมา ที่ทำให้มีการติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 7 ตุลาคม 2564 "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 11,200 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,062 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 138 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,649,434 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 113 ราย หายป่วย 10,087 ราย กำลังรักษา 109,022 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,524,431 ราย