รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
อิสราเอลพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีน Pfizer ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 17.9 เท่า ในวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ 4.8 เท่า
กรณีผลข้างเคียงเรื่อง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภายหลังจากการฉีดวัคซีน mRNA ซึ่งได้แก่วัคซีนของ Pfizer และ Moderna นั้น
ในประเทศไทยเรา ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีผู้คนให้ความสนใจมากนัก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีน Pfizer ฉีด และการอ่านรายงานการศึกษา หรือข่าวคราวต่างๆ ก็จะเน้นอ่านเรื่องประสิทธิผล ที่ได้ผลสูงกว่าวัคซีนเทคโนโลยีอื่น
แต่จริงๆแล้ว ผลข้างเคียงที่รุนแรง แม้จะพบน้อย ของวัคซีน mRNA ทั้งสองชนิด คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และการแพ้รุนแรงแบบช็อก (Anaphylaxis)นั้น
ได้มีรายงานของ ผลข้างเคียงดังกล่าว จากการฉีดวัคซีน Pfizer และModerna มาโดยตลอดในต่างประเทศ
เมื่อ อย. อนุมัติให้ฉีดวัคซีน Pfizer ในเด็กอายุ 12-17 ปีได้ จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง เริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน Pfizer
ซึ่งรายงานจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นของสหรัฐอเมริกา และพบว่ามีผู้ได้รับวัคซีนแล้วเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 12.6 รายต่อ 1 ล้านโดส
ขณะนี้มีรายงานการศึกษาของอิสราเอล จากระบบการแพทย์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศคือ Clalit Health Service ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำคือ NEJM (New England Journal of Medicine)โดยเป็นการเก็บข้อมูล จากผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer อย่างน้อยหนึ่งเข็มจำนวน 2.558 ล้านคน
โดยพบผู้มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 54 ราย เป็นสัดส่วน 21.3 ราย ต่อ 1 ล้านโดส
ในจำนวนนี้
76% อาการน้อย
22% อาการปานกลาง
มีเพียง 2% ที่อาการรุนแรง
ตัวเลขที่น่าสนใจคือ เมื่อเทียบระหว่างคนอิสราเอลกับคนสหรัฐอเมริกา
อิสราเอลพบ 21.3 รายต่อ 1 ล้านโดส
สหรัฐฯพบ 12.6 รายต่อ 1 ล้านโดส
คิดเป็น 1.7 เท่า
ในคนอิสราเอลเองนั้นพบว่า
ผู้ชายพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 41.2 รายต่อล้าน
ผู้หญิงพบ 2.3 รายต่อล้าน
โดยผู้ชาย พบมากกว่าผู้หญิง 17.9 เท่า
เมื่อดูกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา พบว่า
ผู้ที่อายุ 16-29 ปี พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 54.9 รายต่อล้าน
ในคนที่อายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
พบ 11.3 รายต่อล้าน
คนอายุน้อย พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่าคนอายุมาก อยู่ 4.8 เท่า
ดังนั้น ผู้ชายอายุน้อย จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด ตามด้วยผู้ชายอายุมาก ผู้หญิงอายุน้อย และผู้หญิงอายุมากตามลำดับคือ 106.9, 21.1, 3.4 และ 2 รายต่อล้านตามลำดับ
โดยอาการที่พบส่วนใหญ่คือ
เจ็บหน้าอก 81%
มีไข้ 9%
เหนื่อยหอบ 6%
ใจสั่น 2%
เป็นข้อมูลที่สำคัญจากสองประเทศที่ฉีดวัคซีน Pfizer เป็นหลักคือ สหรัฐฯและอิสราเอล โดยข้อมูลที่เก็บนั้นรวบรวมจากประชากรนับล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน มีระบบการเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำ
จึงเป็นข้อมูลสำคัญ ที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับลูกหลานของตนเองต่อไป
แต่โดยภาพรวมแล้ว ต้องถือว่าการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตามหลังวัคซีน Pfizer นั้นต้องถือว่าน้อยมาก และรักษาหายได้เกือบทั้งหมด
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (covid-19)ในประเทศไทยน้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 57,387,052 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 33,774,684 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 22,005,722 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,606,646 ราย