ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เปิดเผยว่า โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน (ตามรอยพ่อฯ) ปี 9 นำโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และพันธมิตร ขยายผลแคมเปญ รวมพลังสู้โควิด-19 จากการรับมือวิกฤตโควิด-19 (covid-19) สู่การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในลุ่มน้ำป่าสักพื้นที่ จ.สระบุรี
โดยร่วมกับศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนล้อมศรีรินทร์ และศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนา โคกนาศัย ด้วยการส่งมอบชุดยังชีพ น้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า และชุดดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่พักรักษาตัวที่บ้าน หรือกล่องกรีนบ็อกซ์ ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังความสามัคคีของเครือข่ายลุ่มน้ำป่าสัก ที่นอกจากจะสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ยังเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นในภาวะวิกฤต
“ขณะที่วิกฤตโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ยังไม่ทันผ่านพ้นไป ก็เกิดอุทกภัยใหญ่ขึ้นมาอีก สร้างผลกระทบแก่ประชาชนกว่า 300,000 ครัวเรือนใน 32 จังหวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานข้อความเตือนสติคนไทยผ่าน ส.ค.ส. ปี พ.ศ. 2547 ที่ว่า สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย พร้อมทรงวาดภาพระเบิด 4 ลูกล้อมรอบประเทศไทยอยู่
อย่างไรก็ดี ถึงวันนี้ประจวบเหมาะพอดีกับสถานการณ์ปัจจุบัน ระเบิด 4 ลูก หมายถึงวิกฤต 4 ด้านที่กำลังเผชิญอยู่ คือ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โรคระบาด ภัยแล้ง หมอกควัน วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวิกฤตด้านการเมือง จะเห็นได้ว่าทรงคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ทรงเตือนคนไทยล่วงหน้าหลายปีเพื่อให้เตรียมพร้อมระวังภัย และได้พระราชทานศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยปฏิบัติเพื่อพึ่งพาตัวเองได้และใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเพื่อเป็นทางรอดจากทุกวิกฤตดังกล่าว
โดยเฉพาะลุ่มน้ำป่าสักมีความลาดชันสูง จัดการยาก โครงการจึงเร่งรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักหาวิธีเก็บน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นตุ่ม แท็งก์ ปลูกไม้ใหญ่เพราะรากไม้จะช่วยขุดดินลึกลงไปหลายสิบเมตร เป็นแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติอย่างดี ใครมีที่ดินก็ทำโคกหนองนา ขุดบ่อขุดหนองและนำดินมาถมให้สูงเป็นโคกเพื่อทำที่อยู่อาศัย ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ในหนองก็ปลูกข้าว เลี้ยงปลา จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พื้นที่โคกหนองนาตามศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีพื้นฐานปัจจัย 4 ครบ ทั้งอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ทำให้คนมีฐาน 4 พอที่มั่นคง คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และยังสามารถแบ่งปัน สร้างรายได้ เป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร ก็สามารถอยู่รอดและยังช่วยเหลือผู้อื่นได้อีก
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา ผู้จัดการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา โครงการตามรอยพ่อฯ ได้เดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งการรับมือวิกฤตครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่ชาวไทยบนเว็บไซต์และเฟซบุ๊คเพจของโครงการตามรอยพ่อฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การลงมือปฏิบัติ อันจะเป็นเกราะป้องกันจากวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน
ตลอดจนจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยมีแคมเปญรวมพลังสู้โควิด-19 เป็นกิจกรรมล่าสุด ซึ่งโครงการตามรอยพ่อฯ ได้ทำงานร่วมกับศูนย์ช่วยโควิด-19 ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติรวม 19 แห่งทั่วประเทศจัดคาราวานรวมพลังสู้โควิด-19
อย่างไรก็ตาม หลังจากดำเนินกิจกรรมไปไม่นาน พายุเตี้ยนหมู่ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงปลายเดือนกันยายนทำให้ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมฉับพลันเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดสระบุรี จึงขยายขอบเขตการดำเนินงานของแคมเปญรวมพลังสู้โควิด-19 ด้วยการส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วยชุดยังชีพ (ข้าวสาร น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำปลา เทียนไข ไฟแช็ค) 500 ชุด น้ำยาอเนกประสงค์ 500 ชุด สบู่เหลวสมุนไพร 500 ชุด ครีมแก้น้ำกัดเท้า 500 ตลับ อาหารปรุงสุก 700 ชุด น้ำดื่ม 700 ชุด และชุดดูแลตนเองป้องกันโควิด-19 (กล่องกรีนบ็อกซ์ น้ำสมุนไพร 7 นางฟ้า)
โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สวนล้อมศรีรินทร์ ต.หนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี โดยนายบุญล้อม เต้าแก้ว ที่ช่วยประสานการดำเนินงานและส่งความช่วยเหลือ และศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนา โคกนาศัย ต.ม่วงงาม อ.เสาไห้ จ.สระบุรี โดยนางสาววนิดา ศรีเม่น โคกหนองนาแห่งแรกของโครงการตามรอยพ่อฯ ตั้งแต่ปีที่ 1 (พ.ศ.2556) ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เป็นศูนย์ดำเนินงานช่วยเหลือ และเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ว่าศาสตร์พระราชาแก้วิกฤตได้อย่างยั่งยืน