รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
12 ตุลาคม 2564
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 295,895 คน ตายเพิ่ม 4,416 คน รวมแล้วติดไปรวม 238,971,006 คน เสียชีวิตรวม 4,872,082 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ สหราชอาณาจักร อเมริกา ตุรกี รัสเซีย และอิหร่าน
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.54 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 88.85
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 10,035 คน สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก
แต่หากรวม ATK อีก 2,263 คน ก็ยังคงเป็นอันดับ 7 ของโลกเช่นเดิม
จากสถิติการระบาดขณะนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าทั่วโลกมีการระบาดในช่วงขาลง ทำให้ติดเชื้อต่ำกว่า 300,000 คนต่อวัน
แต่ไทยเราก็ยังมีอันดับการติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมช่วงมิถุนายนอยู่ราวอันดับ 20 ของโลก แต่ปัจจุบันติดท็อปเท็นมาตลอด สะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่สามารถควบคุมโรคให้ลดลงได้
จำนวนติดเชื้อใหม่เมื่อวานนี้ของไทย คิดเป็น 3.4% ของทั้งโลก แต่หากรวม ATK จะเป็น 4.15%
เรื่องวัคซีน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา 55 ได้ระบุไว้วรรคหนึ่งว่า "รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มี ประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง"
ประโยคข้างต้นมีความหมายยิ่งนัก เพราะระบุถึงเรื่องประสิทธิภาพ และความทั่วถึง
จึงอยากหยิบยกมาให้พิจารณาเรื่องนโยบายวัคซีนให้ถ้วนถี่
โดยหลักการแพทย์สากลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยา หรือวัคซีนใด จะต้องผ่านขั้นตอนการพิสูจน์ทั้งเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิผลในการป้องกันโรค ลดป่วย ลดโอกาสเสียชีวิต ซึ่งขั้นตอนเหล่านั้นเป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดมาในระดับนานาชาติ ต้องผ่านการวิจัยทางคลินิกระยะ 1, 2, และ 3 จนแน่ใจ แล้วจึงทำการขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกแก่สาธารณะ และต้องมีการติดตามผลการใช้เพื่อดูประสิทธิภาพจริงที่เกิดขึ้นตามผลลัพธ์สำคัญที่กล่าวมาข้างต้น
ดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วจึงอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ในการตัดสินใจเลือกใช้วัคซีนแก่ประชาชน โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลจากการวิจัยที่ได้มาตรฐานเป็นหลัก สูตรไขว้ที่มีการใช้ในยุโรปนั้นคือ ChAdOx1 viral vector vaccine เข็มแรก และเปลี่ยนเป็น mRNA vaccine ในเข็มสองนั้นก็มีเหตุผลของการตัดสินใจไขว้จากเรื่องการหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์จาก viral vector vaccine เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของพลเมืองของเค้า นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาติดตามประเมินทั้งเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา จนเป็นที่ยอมรับ
แต่ประเทศพัฒนาแล้วนั้นมิได้มีการสร้างสูตรไขว้อื่นจำนวนมากมาย หากจะคิดค้นก็ต้องทำในลักษณะของโครงการศึกษาวิจัย ไม่ได้นำมาใช้แก่สาธารณะผ่านกลไกนโยบายโดยปราศจากข้อมูลที่ชัดเจนมากเพียงพอ
สำหรับไทยเรานั้น ควรพิจารณาใช้วัคซีนกระแสหลักที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับระดับสากล มีข้อมูลที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยสาธารณะ
เพราะการได้รับวัคซีนสูตรใดๆ นั้น จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ หากมีการเปิดประเทศเพื่อให้มีการเดินทางพบปะติดต่อกัน จะเห็นนโยบายของประเทศอื่นๆ ที่มีข้อกำหนด ระบุถึงชนิดของวัคซีนที่สากลยอมรับ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเรื่องย่างก้าวในอนาคตสำหรับประชาชนแต่ละคนในเรื่องการฉีดวัคซีนในระยะยาวว่าจะใช้ชนิดใด ด้วยเหตุผลใด ต้องระวังเรื่องผลข้างเคียงหรือไม่ ทั้งนี้ถ้าได้รับแบบที่แปลกแหวกแนว การตัดสินใจในอนาคตนั้นย่อมยากที่จะมีข้อมูลมาสนับสนุนหรือมีโอกาสผิดพลาดหรือเกิดปัญหาตามมาได้ เป็นต้น
ดังนั้นจึงอยากขอให้ไตร่ตรองให้ดี ก่อนตัดสินใจ
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-10 ต.ค. 64 มีการฉีดวัคซีนโควิดสะสมจำนวน 60,228,105 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 35,093,892 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 23,400,992 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,733,221 ราย