อาจารย์สัมฤทธิ์ ชาภิรมย์ ผู้จัดการ ศูนย์พิทักษ์สิทธิคนพิการ 1479 สายด่วนคนพิการประชารัฐ กล่าวว่า การจ้างงานผู้พิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยมาตรา 33 และกฎกระทรวงที่ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป
ต้องรับคนพิการเข้าทำงานในสัดส่วนคือลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการ 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน โดยข้อมูลบริษัทธุรกิจเอกชนทั่วประเทศที่ต้องจ้างคนพิการทั้งหมด 5.5 หมื่นคนเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีการจ้างจริงเพียงประมาณ 3 หมื่นกว่าคนเท่านั้น
โดยนายจ้างส่วนใหญ่เลือกที่จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมากกว่าจ้างคนพิการเข้าทำงาน ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้พิการ เนื่องจากการจ้างผู้พิการให้มีรายได้ช่วยเหลือตนเองนั้นมิใช่แค่ช่วยแต่ผู้พิการเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อีกด้วย
ดังนั้นมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ จึงต้องการรณรงค์ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั้งเอกชนและหน่วยงานรัฐ พิจารณารับผู้พิการเข้าทำงานในบริษัทของท่าน ตามมาตรา 33 โดยนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการ (เงินเดือน ค่าล่วงเวลา ฯลฯ) ลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ 2 เท่า
เรื่องนี้นับเป็นปัญหาที่ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการช่วยเหลือการจ้างงานคนพิการให้มีงานทำ ที่ผ่านมาได้ออกกฎหมายกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการฯ ต้องรับเข้าทำงานและจำนวนเงินที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี
ซึ่งเงินที่นำส่งก็คำนวณจากอัตราค่าจ้างต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับครั้งหลังสุดในปีก่อนที่มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ คูณด้วย 365 และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่รับเข้าทำงาน ซึ่งหากไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯหรือส่งล่าช้า หรือส่งไม่ครบถ้วน ต้องเสียต้องเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินที่ยังไม่ได้นำส่ง
แต่กรณีที่รับคนพิการเข้าทำงาน หรือนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ได้รับยกเว้นภาษี เป็นร้อยละของจำนวนเงินค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการหรือเงินที่ส่งเข้ากองทุนได้
ปัจจุบันคนพิการจำนวนมากได้ผ่านการเรียนรู้และพัฒนาฝีมือเทียบเท่าคนปกติซึ่งผู้พิการแบ่งได้ 4 กลุ่มคือ
(1) ผู้พิการทางด้านการสายตาและการมองเห็น
(2) ผู้พิการทางการได้ยินหรือการสื่อความหมาย
(3) ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
(4) ผู้พิการที่เป็นออทิสติก
โดยผู้พิการที่ผ่านการเรียนรู้และอบรมวิชาชีพอย่างที่โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาฯ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล ได้จัดการศึกษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนฝึกอาชีพให้ผู้พิการเหล่านี้มีความชำนาญ สามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือตนเอง ฯลฯ ผู้พิการสามารถทำงานได้เกือบทุกประเภทเหมือนคนปกติซึ่งอาชีพที่เหมาะสำหรับผู้พิการมีหลากหลาย
อาทิ พนักงาน call center นักกฎหมาย ศิลปิน นักบัญชี เลขานุการ พนักงานบริการลูกค้า พนักงานในโรงงาน นักวิเคราะห์ทางการเงิน ที่ปรึกษา ครู พ่อครัว พนักงานขาย พนักงานธุรการ คนเขียนแบบ วิศวกร เกษตรกร ชาวสวน บรรณารักษ์ นักสถิติ นักเขียน เป็นต้น รวมถึงคนพิการที่เป็นบุคคลออทิสติกส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในลักษณะงานทางศิลปะ เช่น การทำเครื่องประดับ ทำงานด้วยดอกไม้และพืช เป็นต้น
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมามีการระบาดของโควิด 19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับการจ้างงานของผู้พิการเป็นอย่างมากสถานประกอบการหลายแห่งต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงหรือยิ่งไปกว่านั้นคือต้องปิดตัวอย่างถาวร จึงทำให้อัตราส่วนการจ้างงานคนพิการลดลงตามไปด้วย
จากการสำรวจพบว่าตำแหน่งงานจะหายไป 15 – 20% ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาดูแลแรงงานกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เนื่องจากคนพิการเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบาง จากที่เคยมีงานทำแล้วกลับมาตกงานจะได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น นอกเหนือจากเรื่องของเงินเดือนแล้ว เมื่อได้ทำงานคนพิการเหล่านี้มีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นที่พึ่งพิงให้กับครอบครัว รู้สึกมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี
ทั้งนี้ สำหรับนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการจ้างงานคนพิการที่เหมาะสมกับกิจการสามารถติดต่อได้ที่โทร 1479 สายด่วนคนพิการประชารัฐ ซึ่งจะประสานหาบุคลากรคุณภาพที่เหมาะกับความต้องการของบริษัทต่างๆ ในสภาวะวิกฤตินี้ขอปันน้ำใจช่วยเหลือผู้พิการให้ได้งานทำ ให้ชีวิตผู้พิการ ตาม ม.33 ทั้งไม่ใช่แค่ช่วยผู้พิการเท่านั้นแต่จะรวมถึงช่วยครอบครัวของผู้พิการอีกด้วย