ศาลยกฟ้องสภาคนพิการร้องรฟม.ไม่จัดอำนวยความสะดวกสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง

08 ก.ย. 2564 | 10:09 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2564 | 17:28 น.

ศาลปกครองกลางยกฟ้องปมสมาคมสภาคนพิการ ร้องรฟม.ไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ชี้มีจัดให้แล้ว 4 อย่าง จึงไม่ละเมิดต้องชดใช้

วันนี้ ( 8 ก.ย.64) ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องในคดีที่สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ยื่นฟ้องว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ละเลยต่อหน้าที่ กรณีไม่จัดทำลิฟต์สำหรับคนพิการและสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานีรถไฟฟ้าให้ครบถ้วนและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ทั้ง 16 สถานี

 

โดยศาลฯ เห็นว่าเนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลฯ ว่า ภายในสถานีรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ได้จัดให้มีการติดตั้งลิฟต์สำหรับคนพิการ ลิฟต์บันได และทางลาดสำหรับคนพิการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ หรือ ทุพพลภาพ และคนชรา ที่มาใช้บริการรถไฟฟ้าในทุกสถานี โดยมีลิฟต์สำหรับคนพิการสถานีละ 4 ตัว

ส่วนสถานีรถไฟฟ้าที่คร่อมบริเวณทางแยก ได้แก่ สถานีบางพลู สถานีแยกนนทบุรี 1 สถานีบางซ่อน รฟม. ได้ติดตั้งลิฟต์บันไดเพื่อให้สามารถขึ้นไปถึงชั้นออกบัตรโดยสารและชั้นชานชาลาเพิ่มเติม โดยลิฟต์บันไดดังกล่าวมีราวกั้นทุกด้าน บริเวณช่วงลำตัวของคนพิการ และที่ล้อเข็น เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และมีป้ายสัญลักษณ์คนพิการที่มีสีขาว และพื้นป้ายสีน้ำเงินติดไว้ที่ช่องประตูด้านนอกลิฟต์และที่อุปกรณ์ลิฟต์บันได

 

นอกจากนี้ ภายในอาคารสถานีรถไฟฟ้าได้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ได้แก่ ช่องขายตั๋ว ห้องน้ำ ที่จอดรถสำหรับคนพิการ และมีพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับคนพิการทางการมองเห็นในบริเวณต่างๆ ในสถานีรถไฟฟ้า

 

อีกทั้งได้จัดให้มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในรถไฟฟ้า ได้แก่

 

1.พื้นที่สำหรับจอดรถเข็นคนพิการในรถไฟฟ้า จำนวน 2 จุด ต่อหนึ่งตู้โดยสาร ใกล้กับประตูรถไฟฟ้า โดยพื้นผิวของพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นผิวกันการลื่นไถล

 

2.ที่นั่งสำรองสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และคนพิการ จำนวน 2 ที่นั่ง ต่อหนึ่งตู้โดยสาร ใกล้กับประตูรถไฟฟ้า 

 

3.อุปกรณ์สำหรับยึดรถเข็นคนพิการ เป็นประเภทเข็มขัดนิรภัยและชุดล็อคขนาดมาตรฐานทั่วไป สามารถปลดออกได้ในกรณีฉุกเฉิน 

4.ป้ายสัญลักษณ์คนพิการ บริเวณพื้นที่สำหรับจอดรถเข็นคนพิการ และ  ป้ายสัญลักษณ์คนพิการด้านนอกขบวนรถไฟฟ้า กรณีจึงรับฟังได้ว่า รฟม. ดำเนินการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการเพื่อให้คนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ภายในสถานีรถไฟฟ้า และขบวนรถไฟฟ้า ตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548

 

และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ. 2556 ตามควรแก่กรณี เพื่อเป็นการดำเนินการให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะในการใช้บริการรถไฟฟ้าอย่างเหมาะสมแล้ว

 

ดังนั้น จึงไม่อาจฟังได้ว่า รฟม. ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีการจัดทำลิฟต์สำหรับคนพิการ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ กรณีจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อสมาคมฯที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับสมาคมฯ