"อพท." ดันสุโขทัย-น่านขึ้นแท่นสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก

14 ต.ค. 2564 | 09:19 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2564 | 20:27 น.

อพท. ดันสุโขทัย น่าน ขึ้นสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก ตามด้วย 23 ชุมชน คว้ารางวัลกินรี จากการใช้เกณฑ์ GSTC และ CBT Thailand ตอกย้ำทุกชุมชนพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวคุณภาพหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า  ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย และตำบลในเวียง จังหวัดน่าน ได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก ปี 2021 ( Global Sustainable Destinations Top 100 ) โดยตำบลในเวียงได้รับการคัดเลือกดังกล่าวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ทั้งนี้ ผลดำเนินงานด้านการพัฒนายกระดับแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนในรอบปีงบประมาณ 2564 ทำให้เกิดกิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจากการใช้องค์ความรู้ที่มีมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวที่ อพท. รับผิดชอบ ได้รับการยอมรับจากองค์กรทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างมากมาย และล่าสุดแหล่งท่องเที่ยวที่ อพท. เข้าไปพัฒนา ได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลกดังกล่าว 
"รางวัล Top 100  เป็นการจัดโดยหน่วยงานระดับโลก คือ Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก ITB (Internationale Tourismus-Börse) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับคัดเลือกนี้จะได้รับการประชาสัมพันธ์ไปยังเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงการเผยแพร่ข่าวสารไปยังนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีผลให้เกิดการรับรู้ทางการตลาดได้อย่างกว้างขวาง ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาสู่ประเทศไทย”

สำหรับจุดเด่นของสุโขทัย คือเป็นเมืองอุทยานประวัติศาสตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่คำนึงถึงระบบนิเวศธรรมชาติและการจัดการมลพิษต่างๆ  ขณะที่เมืองน่านก็ได้มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาดของอาเซียนหรือ ASEAN Clean Tourist City Standard จากเวทีการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 37 พ.ศ. 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่  แต่จุดสำคัญที่ทำให้ได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แหล่งของโลก คือการมีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตัวเอง และมีความงดงามในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต มีการจัดการและการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งได้จากองค์ความรู้ที่ อพท. เข้าไปพัฒนา

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี
ส่วนของภาคชุมชน ปี 2564 ชุมชนที่ อพท.  นำองค์ความรู้ตามเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand ไปพัฒนา  ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (กินรี) ครั้งที่ 13 จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำนวน  23 ชุมชน แบ่งเป็น สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยม 6 ชุมชน และรางวัลระดับดีเด่น 14 ชุมชน 
และในสาขาแหล่งเรียนรู้ ได้รับรางวัลระดับดีเด่น 3 ชุมชน  ซึ่งทั้งหมดเป็นชุมชนที่ อพท. ได้นำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้าไปส่งเสริมและยกระดับการพัฒนา  การได้รับรางวัลครั้งนี้จึงถือเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ อพท. ในการพัฒนาและยกระดับชุมชนท่องเที่ยวให้มีคุณภาพในระดับประเทศ ที่นักท่องเที่ยวสามารถคาดหวังในบริการที่ได้มาตรฐาน ทั้งการบริหารจัดการ มีความปลอดภัย และสุขอนามัย และทุกชุมชนมีความพร้อมที่จะเสนอขายแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปเยือนภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (covid-19) คลี่คลาย

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ อพท. ได้เข้ารับมอบรางวัล PATA Gold Awards 2021 จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ Pacific Asia Travel Association : PATA  ประเภทความยั่งยืน (Sustainability Awards) ด้านการริเริ่มพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development Initiative Awards) หัวข้อ หลักสูตรการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชนเชิงบูรณาการ (DASTA CBT Integrated Curriculum: the Training for Community-based Tourism Stakeholder Empowerment) 
และล่าสุด สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากล ยังได้รับรองและคงสถานะ GSTC Recognized โดยเป็นการยอมรับว่า มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ หรือ Sustainable Tourism Management Standard : STMS ของ อพท. มีมาตรฐานเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก สำหรับสถานที่แหล่งท่องเที่ยวของ GSTC (GSTC Destination Criteria) เวอร์ชั่น 2.0

สุโขทัย ขึ้นสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก
ด้านมาตรฐาน STMS  หรือเรียกว่า อพท. น้อย เป็นมาตรฐานองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ อพท. นำไปอบรมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนำไปใช้พัฒนาให้แก่ชุมชนของตัวเอง ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 อพท. ได้นำมาตรฐานฯ ไปขยายผลส่งเสริมให้แก่องค์กรจัดการด้านการท่องเที่ยว (Destination Management Organization: DMO) จำนวน 8 แห่ง ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรมให้กับองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ และคาดว่าจะประกาศผลหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน STMS ในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตามรางวัลต่างๆ ที่แหล่งท่องเที่ยวและชุมชนได้รับ มาจากการร่วมแรงร่วมใจของ อพท. กับ ภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชนที่สนับสนุน และมีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งนับเป็นความภูมิใจและความสำเร็จของ อพท. ที่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ สนองตอบต่อนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ที่ต้องการสร้างอาชีพและกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน  โดยใช้ฐานทุนทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม มาต่อยอดให้เกิดรายได้ และนักท่องเที่ยวยังได้มีเส้นทางและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและการจัดการอย่างมีมาตรฐาน นอกจากนั้นยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในด้านการมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วย