นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกเมืองไทยยังมีการเติบโตถดถอยต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรก ของปี 2559 มีการเติบโตเพียง 2.6% ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำ ต่อเนื่องจากปี 2557-2558 ที่มีการเติบโตติดลบ 3% เป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 20 ปี ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ภาครัฐจะต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ ซีซัน หากรัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อก็จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศยิ่งซบเซาตามไปด้วย
ทั้งนี้สมาคมได้นำเสนอมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อภาครัฐจำนวน 5 ข้อ ประกอบไปด้วย 1. การผลักดันนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช็อปปิ้ง (Shopping Tourism) โดยให้เปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี การเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองให้มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.การผลักดันนโยบาย Duty Free City เพื่อให้ประเทศไทยเป็นช็อปปิ้ง เดสติเนชันของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง โดยเสนอให้จัดทำใน 10 เมืองท่องเที่ยว ได้แก่ พัทยา , ภูเก็ต ,สมุย ,หาดใหญ่ ,กรุงเทพฯ , เชียงใหม่ , เชียงราย , อุบลราชธานี , อุดรธานี และนครราชสีมา 3. การเพิ่มมาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ สถานที่ขายสินค้าในทันที และการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% สำหรับชาวต่างชาติ
4. การผนึกความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีก จัดโครงการ Thailand Brand Sale ลดราคาสินค้าที่หมดฤดูกาล จากแบรนด์แฟชั่นทั้งไทย ต่างประเทศ รวมถึงสินค้าอุปโภค บริโภคขึ้นภายในจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำ 10 จังหวัด 8 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย และ 5. การจัดทำมาตรการช็อปเพื่อชาติ เพื่อให้เม็ดเงินการจับจ่ายกระจายสู่ภูมิภาค โดยไม่จำกัดจำนวน 1.5 หมื่นบาท สามารถจับจ่ายเพิ่มได้ตามเงินรายได้ที่มี
"รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมค้าปลีก ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3.1 ล้านล้านบาท ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมค้าปลีกมีการเติบโตติดลบ เนื่องจากทิศทางการผลักดันเศรษฐกิจมุ่งไปยังการปรับโครงสร้างและการส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศจึงไม่เข้าเป้าหมาย ทำให้ค้าปลีกในปี 2557-2558 มีการเติบโตติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ขณะที่ตั้งแต่ปี 2545-2555 ค้าปลีกมีการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี"
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างหามาตรการมากระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค เพื่อผลักดันให้มีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 2.8% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 3% ทั้งนี้การผลักดันข้อเสนอต่างๆนี้ หากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้อย่างน้อย 3 ข้อ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้ภาคค้าปลีกคึกคักและมีตัวเลขการเติบโตไม่ต่ำกว่า 2 หลักอย่างแน่นอน
ด้านดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับกลาง-ล่างที่ชะลอตัวตั้งแต่ปีก่อน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าปลีก โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต คือ เทสโก้ โลตัสและบิ๊กซี รองลงมาได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากมีสาขาอยู่ในต่างจังหวัดจำนวนมาก โดยปัจจุบันพบว่า จำนวนร้านค้าปลีกที่เปิดให้บริการในต่างจังหวัดคิดเป็นสัดส่วน 60% และในกรุงเทพฯและปริมณฑล 40% ทั้งนี้คาดว่าสัดส่วนจะเปลี่ยนแปลงเป็น 72: 28 (ตามลำดับ) ในปี 2561-2562
ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับกลาง-บน ยังมีการใช้จ่ายต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2558 มีคนไทยใช้จ่ายในต่างประเทศราว 1.7 แสนล้านบาท เป็นการจับจ่ายซื้อสินค้าแบรนด์เนม 5.08 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้หากรัฐบาลมีมาตรการในการดึงให้คนไทยกลุ่มนี้หันกลับมาใช้จ่ายเงินในประเทศเพียงแค่ 2.5 หมื่นล้านบาทก็จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจต่างๆเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
"การบริโภคภาคค้าปลีกค้าส่งในช่วงที่ผ่านมาอ่อนแอลงมาก สาเหตุมาจากกำลังซื้อผู้บริโภคระดับกลางลงล่าง ซึ่งต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคการเกษตร ขณะที่เม็ดเงินที่ภาครัฐใส่ลงสู่ระบบไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน หรืออื่นๆ ยังไม่ส่งผลลัพธ์เท่าที่ควร เห็นจากการที่สินค้าคงทน เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ฯลฯ ยังไม่มีการเติบโตเช่นเดียวกับสินค้าไม่คงทน เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ฯลฯ ส่วนสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง รองเท้า เครื่องหนัง ฯลฯ แม้จะมีการเติบโตแต่ก็เป็นการเติบโตแบบถดถอย ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ย 8-12%"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559