"โมลนูพิราเวียร์" (Molnupiravir) ความคืบหน้าล่าสุด นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ได้ทำการเจรจากับบริษัทเมอร์ค แล้วและจัดทำร่างสัญญาแล้วทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถ้าอย.สหรัฐ อนุมัติ ก็คาดว่า ช่วงเดือน พ.ย. นี้ อย.ไทยจะอนุมัติยาดังกล่าว และต้นปี 2565 จะเริ่มใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในไทย
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า การจัดซื้อโมลนูพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโควิด ไม่ได้มีการแทงม้าตัวเดียว การจัดซื้อขึ้นอยู่กับประโยชน์ของประเทศ และอิงตามความสำคัญ และผลการศึกษาวิจัยทางคลินิก พิจารณาตามความสำคัญสถานการณ์และตั้งมั่นในความไม่ประมาท แต่การจัดหาจะต้องขึ้นกับการศึกษาถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลของยานั้นๆ ต้องดูผลจากการรักษาจริงที่ได้จากการทดลองทางคลินิก และจะพยายามจัดซื้อตามความจำเป็น จัดซื้อด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศที่ควรจะต้องรักษาไว้ให้ได้มากที่สุด
ยาโมลนูพิราเวียร์ คืออะไร?
ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานมีลักษณะเป็นยาเม็ด เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาของบริษัท ริดจ์แบ็ค เทอราพิวทิค (Ridge Biotherapeuthics) ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัท เมอร์ค (Merck) ประเทศเยอรมันนี
โดยจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า โมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในมนุษย์หลายโรค เช่น โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ SARS) โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome หรือ MERS) และ โรคโควิด 19 (COVID-19) นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสอีโบลา (Ebola) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และไวรัสไข้สมองอักเสบบางชนิด (Encephalitis)
เช็คประสิทธิภาพ ยาโมลนูพิราเวียร์ พลิกเกมรักษาโควิด
บริษัทเมอร์คได้เผยแพร่รายงานการทดสอบทางคลินิกเฟส 3 ของยาโมลนูพิราเวียร์ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 64 ว่า จากการวิเคระห์ข้อมูลชั่วคราวจากการทดสอบแบบสุ่ม พบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อโควิด ในการเข้าโรงพยาบาลได้ถึงประมาณ 50%
จากการทดสอบกับอาสาสมัครผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เริ่มมีอาการเล็กน้อย-ปานกลาง เป็นเวลา 5 วัน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 385 คน ได้รับประทานยาโมลนูพิราเวียร์ พบว่า มีเพียง 28 คน หรือคิดเป็น 7.3% ที่อาการรุนแรงขึ้นจนต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กินยาหลอก (placebo) พบว่า 53 คน จาก 377 คน หรือคิดเป็น 14.1% ต้องเข้าโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิต 8 ราย หลังจากผ่านมา 29 วัน ในขณะที่ผู้ได้รับประทานยาโมลนูพิราเวียร์ ไม่มีใครเสียชีวิต
แนวทางการรักษาโควิดในไทย
จะมีการใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ ฟ้าทะลายโจร หรือยาอื่นๆ รวมถึง ยาโมลนูพิราเวียร์ กรมการแพทย์ ได้มีการคุยกับคณะแพทย์ต่างๆ กำลังเก็บข้อมูลการศึกษาในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ต่อ สายพันธุ์เดลตา เพื่อมาวิเคราะห์ผลประสิทธิภาพเป็นอย่างไร รวมถึงเก็บข้อมูลในส่วนของยาชนิดอื่นๆ ในการรักษาโควิดด้วย