ดูดเงินจากบัญชี ตร.เร่งสอบเส้นทางการเงินหาคนร้าย

19 ต.ค. 2564 | 06:38 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2564 | 13:52 น.

เหยื่อถูก ดูดเงินจากบัญชี ไม่ต้องเเจ้งความ ให้ข้อมูลธนาคารเพื่อรวบรวมหลักฐานส่งตำรวจ ขณะที่ตำรวจเร่งประสานทุกหน่วย ตรวจสอบเส้นทางการเงินหาตัวคนร้าย

วันที่ 19 ต.ค.64 พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางแก้ปัญหากรณีการตัดเงินที่ผิดปกติ ผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของประชาชนจำนวนมาก ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น มีผู้เสียหายจากผู้ใช้บัตรเครดิต กว่า 5,700 ราย และผู้ใช้บัตรเดบิตกว่า4,800 ราย ความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

ซึ่งทางธนาคาร ได้รับเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ โดยธนาคารต่าง ๆ จะมีการตรวจสอบความผิดปกติในการโอนเงินของบัญชีต่าง ๆ ควบคู่กับการรับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน ส่งให้ตำรวจติดตามหาตัวคนร้ายต่อไป ทำให้ผู้เสียหาย ไม่ต้องเข้าแจ้งความกับตำรวจ แต่สามารถเข้าติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชีได้โดยตรง ขณะเดียวกัน จะมีการตั้งผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เชื่อมั่นว่า จะสามารถตามจับคนร้ายได้ แม้จะเป็นชาวต่างชาติ ก็มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือสัญญาต่างตอบแทน แต่เบื้องต้น ขอให้รู้ตัวคนร้ายให้แน่ชัดก่อน

ตัวแทนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ระบุว่า ทาง ปปง. มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกทำให้สามารถร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารต่าง ๆ ตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน ย้อนกลับไปหาตัวคนร้ายได้

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ย้ำว่า ระบบธนาคารมีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งในส่วนของการเยียวยา กรณีที่ผู้เสียหาย ได้รับผลกระทบจากบัตรเดบิต จะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ ส่วนบัตรเครดิตธนาคารจะยกเลิกรายการดังกล่าว ผู้เสียหายไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติ โดยทางธนาคาร พร้อมรับผิดชอบคืนเงินให้ผู้เสียหายทุกกรณี ซึ่งเมื่อธนาคาร ตรวจสอบพบความเสียหายแล้ว จะติดต่อกลับไปยังผู้เสียหายเพื่อคืนเงินต่อไป

นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด มหาชน ยอมรับว่า กรณีนี้คนร้ายใช้ช่องโหว่ของการอำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สร้างความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ทั้งหมด เพราะอาจเป็นการชี้ช่องให้มิจฉาชีพนำไปใช้ได้ โดยจากนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารต่าง ๆ จะมีการปรับปรุงระบบให้ดีที่สุด

นายธวัช ไทรราหู ประธานชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ธนาคารยูโอบี จำกัด มหาชน กล่าวถึงข้อกังวลของประชาชนบางส่วน ที่อาจไม่เคยทำบัตรเดบิตหรือเครดิต แต่ถูกหักเงินในบัญชีไป โดยยืนยันว่า ไม่ได้เกิดจากแอพดูดเงินอย่างที่มีข้อกังวล ส่วนกรณีนี้ มีการนำข้อมูลของบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ไปสร้างความเสียหายให้กับประชาชน โดยเฉพาะ บัตรเดบิต ที่มีการผูกไว้กับบัญชีเงินฝากของประชาชน เมื่อมีการถูกตัดเงิน จึงเกิดผลกระทบทันที แต่กรณีที่ผู้เสียหายไม่เคยผูกบัญชีไว้กับการใช้จ่ายใด ๆ นั้น ก็อาจได้รับผลจากการใช้บริการร้านค้าออนไลน์บางประเภทได้ เช่น การซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์ผ่านร้านค้า, การเช่าเว็บไซต์ หรือ การได้สิทธิเข้าเล่นเกมรายครั้ง ซึ่งจากนี้ต้องเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น