ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนนับหมื่นคน ต้องสูญเงินเพราะแอปที่ผูกกับบัญชีธนาคารบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ถูกหักเงินจำนวนน้อยแต่หลายครั้งติดต่อกัน ว่า คำชี้แจงเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคาร ที่ระบุว่า “เบื้องต้นมิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลของธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้า และบริการกับร้านค้าออนไลน์ ที่ขดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอปดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว” นั้น ยังไม่เพียงพอ
แต่มี 2 ประเด็นหลักที่ควรต้องให้ความชัดเจนกับสังคมด้วยคือ
1.เหตุใดระบบของธนาคารจึงไม่สามารถตรวจจับความผิดปกติดังกล่าวได้ ทำไมต้องรอจนเป็นข่าวแล้ว จึงค่อยมีการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ
2.หากระบบตรวจจับความผิดปกติได้ ทำไมไม่มีการแจ้งเตือนไปยังลูกค้า เมื่อพบความผิดปกติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า 2 ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญพื้นฐาน ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นปัญหาอยู่ตลอดเรื่องข้อครหาว่ามีการขายข้อมูล หรือนำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยที่ประชาชนไม่รู้อิโหน่อิเหน่
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นบทสะท้อนว่า ควรต้องเร่งบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้ได้โดยเร็ว เพราะกฎหมายนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 มีผลบังคับใช้ 27 พฤษภาคม 2563 แต่รัฐบาลประกาศเลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นวันที่ 27 พฤษภาคมปีนี้ ต่อมาก็ขยายเวลาบังคับใช้ออกไปอีกเป็นวันที่ 1 มิถุนายน ปีหน้า โดยให้เหตุผลว่า ภาคเอกชนยังไม่มีความพร้อม มีคำถามว่าแล้วใครคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่ถูกละเมิดตลอดเวลา
“ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้น หากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผลบังคับใช้ ธนาคารจะมีหน้าที่ในการแจ้งเตือนธุรกรรมผิดปกติกับลูกค้า โดยที่ลูกค้าไม่ต้องไปเสียค่าธรรมเนียมรายปี เหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และยังช่วยเตือนภัยให้ประชาชน รวมถึงสกัดปัญหาได้ทันท่วงทีด้วย ยิ่งกฎหมายมีผลใช้บังคับช้าเท่าไหร่ ประชาชนก็เสียประโยชน์มากเท่านั้น” ศ.ดร.กนก กล่าว