สำนักวิจัย “ซูเปอร์โพล” เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ปัจจัยเสี่ยงต่ออันตรายทางไซเบอร์” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,017 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19-22 ตุลาคมที่ผ่านมาผลสำรวจพบว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 94.2 % พบการระดมปลุกปั่นในโลกโซเชียลมีเดีย และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความแตกแยกของคนในชาติ รวมทั้งสั่นคลอนสถาบันพระมหากษัตริย์
ขณะที่ 81.7% เคยพบปัญหาข้อมูลการค้าขาย ธุรกรรมทางธุรกิจ ผิดปกติจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ นอกจากนี้ 76% เคยถูกหลอกลวง เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ และการใช้โซเชียลมีเดีย และ 75.5% เคยเจอความไม่ปลอดภัยกับข้อมูลส่วนบุคคล จากการใช้บริการธนาคารและสถาบันการเงิน เช่น การถูกดูดเงินออกจากบัญชี การโอนเงิน การใช้ออนไลน์แบงค์กิ้ง เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 68.5 % เคยถูกบูลลี่ ข่มขู่ คุกคาม เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โซเชียลมีเดีย กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่ง หรือ 48.9 % พบปัญหาค่อนข้างมากถึงมากที่สุดว่า หน่วยงานรัฐยังไม่ค่อยตื่นตัว ไม่บูรณาการเชื่อมโยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ในขณะที่40.3% พบปัญหาปานกลาง และ 10.8% พบปัญหาค่อนข้างน้อยถึงไม่พบปัญหาเลย
ส่วนดีกรีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียในประเทศไทยนั้น ประชาชนกลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่ง หรือ50.5% บอกว่า เสี่ยงค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ 36.1% ระบุว่าเสี่ยงปานกลาง มีเพียง13.4% ระบุว่าเสี่ยงค่อนข้างน้อยถึงไม่เสี่ยงเลย
ดอกเตอร์ นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล กล่าวว่า จากผลสำรวจที่ออกมา จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องเพิ่มบทบาทของภาคประชาชน หรือ Non-State Power ใช้ “สังคมคุมสังคม” สร้างความตระหนักรู้และตื่นตัวของประชาชน เพราะลดปัญหาและอันตรายจากการใช้โซเชียลมีเดีย สื่อดิจิทัล และการซื้อขายผ่านโลกออนไลน์