ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า ได้ปรับแผนการจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำชี - มูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ที่มีแนวโน้มจะเพิ่งสูงขึ้นอีกในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้
โดยเป็นผลมาจากอิทธิพลของพายุคมปาซุ และมวลน้ำชุดแรกที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำมูลบริเวณสถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,384 ลบ.ม./วินาที อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริม 2 ฝั่งแม่น้ำมูลในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ
สำหรับแนวทางในการจัดจราจรน้ำแม่น้ำชี-มูล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น ป้องกันไม่ให้มวลน้ำก้อนใหญ่ของทั้ง 2 ลำน้ำไหลมาบรรจบกัน ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบมากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการเร่งระบายน้ำก้อนใหญ่ในแม่น้ำมูลไปลงแม่น้ำโขงก่อนเป็นลำดับแรก และเมื่อน้ำก้อนใหญ่จากแม่น้ำชี จะไหลผ่านสถานี M.7 จึงจะเริ่มหน่วงน้ำในลำน้ำมูลตอนบน เพื่อลดยอดปริมาณน้ำสูงสุดที่จะไหลผ่านในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วต่อไป
"ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) และสำนักเครื่องจักรกล ได้วางแผนติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมอีก จำนวน 100 เครื่อง บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งผลักดันน้ำให้ไหลผ่านแก่งสะพือได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับเตรียมพื้นที่ไว้รองรับน้ำที่จะหลากลงมาอีกในระยะต่อไป จากเดิมที่ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไปแล้ว 100 เครื่อง พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที"
กรมชลประทานได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขาอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา