วันนี้ (24 ต.ค. 64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม. ว่า กรุงเทพมหานคร ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ ในการติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด
รวมทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น
เข้มงวดการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภทในพื้นที่
การรณรงค์ลดการเผาในที่โล่งและไม่ขับช่วยดับเครื่อง
ดำเนินการฉีดล้างใบไม้และฉีดล้างทำความสะอาดถนนและพื้นที่สาธารณะ
และขอความร่วมมือส่วนราชการรวมถึงประชาชนการหมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้ก่อมลพิษ เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่นละอองที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว
อีกทั้งกรุงเทพมหานครมีช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ พร้อมรายงานข้อมูลและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่
เว็บไซต์ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com www.prbangkok.com
เฟซบุ๊ก: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
และแอปพลิเคชัน : AirBKK
รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และจอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ หากพบค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่องจะมีการเพิ่มความถี่การแจ้งเตือนค่าฝุ่นละออง PM2.5 เป็นวันละ 3 รอบเวลา คือ 07.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น. เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง พร้อมแนะนำการปฏิบัติหากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง
สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร เพื่อดูแลและให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ได้มอบหมายสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย และสำนักงานเขตพื้นที่ จัดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินมาตรฐานจนมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน
เน้นย้ำข้อควรปฏิบัติในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง แนะนำการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง รวมถึงการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ได้ดำเนินการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง (PM2.5) ให้มีการประกอบกิจการอย่างถูกสุขลักษณะในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ประกอบด้วย
1. รณรงค์ให้ฌาปนสถานทั่วกรุงเทพมหานคร จำนวน 308 แห่ง มีการบำรุงรักษาเตาเผาศพให้มีสภาพสมบูรณ์ และกำชับให้เจ้าหน้าที่ฌาปนสถานดำเนินงานเผาศพอย่างถูกวิธี ได้แก่ ไม่ใส่สิ่งขอส่วนตัวของผู้ตายและวัสดุต่าง ๆ
เช่น กระดาษเงินกระดาษทอง ดอกไม้จันทน์ ลงไปในหีบศพเกินความจำเป็น และควบคุมอุณหภูมิในห้องเผาควันไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส เป็นต้น
รวมทั้งได้ประสานสำนักงานเขตตรวจวัดเขม่าควันที่ระบายออกทางปล่องเตาเผาศพเป็นประจำทุกปี ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม หากเตาเผาศพใดมีค่าเขม่าควันเกินกว่าค่ามาตรฐาน จะขอความร่วมมือวัดหรืออาจใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถานสั่งการให้วัดระงับการเผาศพเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะปรับปรุงเตาเผาศพให้ได้มาตรฐาน
2. ขอความร่วมมือให้ศาลเจ้าทุกแห่ง จำนวน 77 แห่ง ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยฝุ่นละอองจากการจุดธูปและการเผากระดาษ ในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน ได้แก่ การลดจำนวนกระถางธูป การให้บริการธูปก้านสั้นและมีควันน้อยลง การตั้งวางกระถางธูปในจุดที่มีการถ่ายเทอากาศที่ดีหรือตั้งวางด้านนอกอาคาร
การจัดเจ้าหน้าที่เพื่อดับควันธูปเมื่อไหว้ขอพรเสร็จแล้ว และการลดหรือหลีกเลี่ยงการเผากระดาษในที่โล่งแจ้ง เป็นต้น รวมทั้งการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองเมื่อเข้าไปใช้บริการในศาลเจ้าหรือลดระยะเวลาในการสัมผัสกับเขม่าควัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคในระบบการหายใจ และกลุ่มเด็ก
3. แจ้งให้สถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกรุเทพมหานคร ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ซึ่งมีการประกอบการที่อาจจะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง ให้มีการประกอบการอย่างถูกสุขลักษณะ และมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบบำบัดมลพิษทางอากาศให้มีประสิทธิภาพก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
รวมทั้งได้กำชับสำนักงานเขตให้มีการตรวจสอบสถานประกอบการที่อาจจะก่อให้เกิดฝุ่นละออง โดยหากพบว่าสถานประกอบการใดที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง จะได้มีมาตรการ เช่น ขอความร่วมมือให้หยุดประกอบการในวันที่มีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สูง หรือให้สถานประกอบการตรวจสอบและปรับปรุงระบบบำบัดมลพิษทางอากาศให้เป็นไปตามค่ามาตรฐาน
4. ส่งเสริมความรู้ให้สถานประกอบการที่ใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ในกระบวนการผลิต มีการควบคุมการทำงานของหม้อไอน้ำให้มีเผาไหม้ที่สมบูรณ์และมีระบบกำจัดมลพิษอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยทิ้งฝุ่นละอองขนาดเล็กและมลพิษอากาศอื่น ๆ ออกสู่บรรยากาศ รวมทั้งประสานกรมโรงงานในการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกทางหนึ่ง
5. ส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายอาหาร แผงค้าในตลาดสดและตลาดนัด และแผงลอยจำหน่ายอาหาร ที่มีการใช้เตาปิ้งย่าง กว่า 1,700 ราย ตระหนักถึงอันตรายของฝุ่นละอองที่เกิดจากการปิ้งย่าง รวมทั้งแนะนำให้ใช้เตาปิ้งย่างแบบไร้ควัน มีอุปกรณ์ป้องกันการฟุ้งกระจายของเขม่าควันและฝุ่นละออง และเลือกใช้เชื้อเพลิงในการปิ้งย่างที่ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง เช่น ถ่านอนามัย หรือถ่านอัดแท่งอนามัย เป็นต้น