26 ต.ค.2564 - ยังเป็นประเด็นถกเถียงของสังคม ศิษย์เก่า - ศิษย์ใหม่อย่างต่อเนื่อง หลังจากองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ออกแถลงการณ์ คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ โดยอ้างเรื่องความเท่าเทียม
ขณะต่อมา สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ ขอเลื่อนกำหนดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีฯจุฬา-ธรรมศาสตร์ ปี 2564 ออกไปก่อน เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโคโรน่ไวรัส 2019 ที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ในครั้งต่อๆไปยังคงจะสืบสานให้มีการอัญเชิญพระเกี้ยว อันเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าสืบไป
กระแสยกเลิกขบวนพระเกี้ยวดังกล่าว มีผู้แสดงความเห็นอย่างหลากหลายในหลายแง่ ทั้งเห็นด้วยกับการยกเลิกขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว เนื่องจากมีการสืบค้นว่าที่ผ่านมา สร้างความอึดอัดทางใจและทางกายให้กับผู้ที่ทำหน้าที่แบกหาม มิใช่การสมัครใจอย่างในอดีต ขณะอีกฝั่ง มอง การอัญเชิญพระเกี้ยวไม่เกี่ยวศักดินา
โดยเฉพาะ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาระบุ ว่า แถลงการณ์ของ อบจ. จุฬาฯ นั้น เต็มไปด้วยการตีตรา คิดแบบติ้นเขิน และใช้เสรีภาพแบบผิดๆ ยืนยัน ประเพณีการแห่พระเกี้ยว เป็นความงดงามที่คนไทย นิสิตไทย มีความกตัญญูต่อพระผู้สถาปนามหาวิทยาลัยที่ใช้พระปรมาภิไธยเป็นมงคลนามของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าว ทำให้ แฮชแท็ก #พระเกี้ยว ยังคงติดเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ควรมีต่อหรือพอแค่นี้?
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊กองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นร้อน โดยมีการโพสต์ข้อความและภาพประกอบ ในหัวข้อ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ควรมีต่อหรือพอแค่นี้? เพื่อต้องการสำรวจความคิดเห็น ชาวธรรมศาสตร์ พร้อมระบุ ข้อสรุปดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยมีใจความสำคัญดังนี้
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ควรมีต่อหรือพอแค่นี้?
“เมื่อสังคมขยับ วัฒนธรรมต้องปรับ คนต้องเปลี่ยน"
วัฒนธรรมศักดินา อภิสิทธิ์ชน และค่านิยมความงาม คือ ภาพที่ยังคงสะท้อนและฉายซ้ำแฝงตัวอยู่ในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือ “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์” กิจกรรมและวัฒนธรรมระหว่างสองมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมกันสืบสานมาอย่างเนิ่นนาน ซึ่งยังคงสะท้อนและฉายซ้ำภาพของสิ่งเหล่านี้ ถึงแม้จะมีความพยายามปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันเสมอมา แต่การปรับเปลี่ยนนั้นทำให้งานฟุตบอลประเพณีฯ เป็น “งานของทุกคน” และ “แบบอย่าง” ของสังคมปัจจุบัน แล้วจริงหรือ?
ขอเชิญชาวธรรมศาสตร์ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ
"อนาคตงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์"
ได้ที่: (คลิก) https://bit.ly/3nwEQtZ
เพราะงานฟุตบอลประเพณีฯ ควรมาจากเจตนารมณ์ของประชาคมธรรมศาสตร์ทุกคน
#งานบอลคือเสียงของธรรมศาสตร์ทุกคน
เราได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจจากการถกเถียงในวงสังคมมาให้ทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็น ดังนี้
งานฟุตบอลประเพณีฯ ควรมีต่อไปหรือไม่?
ในข้อความยังระบุว่า หากท่านมีประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ ก็สามารถเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นเข้ามาได้ โดยเราจะรวบรวมความคิดเห็นเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมต่อไป
หมายเหตุ: ข้อมูลส่วนบุคคลของนักศึกษาใช้เพื่อยืนยันตัวตนของนักศึกษาเท่านั้นและจะไม่ถูกนำไปเผยแพร่หรือใช้ประโยชน์อื่น
#TUCUtraditionalfootball #TUCU