พญ.สุมณี วัชรสินธ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ช่วงหนึ่งถึงการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จากกราฟแสดงทิศทางแนวโน้มการติดเชื้อใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มค่อยๆลดลง
ทางอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการติดตามสถานการณ์ในภาคใต้ทุกวัน โดยมีปลัดประทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุม และบูรณาการ ลงไปขับเคลื่อนร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยศบค.ส่วนหน้า ที่มีการประชุมทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม จากที่ประชุมมีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง
1.เร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง 608 นักเรียน นักศึกษา และแรงงานในพื้นที่ โดยมีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าเข้าเรื่องวัคซีนเป็นภาษาพื้นถิ่น ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น หอกระจายข่าว แผ่นพับ โดยได้รับความช่วยเหลือ และประสานงานจากผู้นำชุมชน และ ผู้นำทางศาสนา
2.การจำกัดวงไม่ให้การแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เนื่องจากเมื่อมีการวิเคราะห์สถานการณ์พบว่า เป็นการระบาดในครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะตลาด และมีรายงานจากสถานประกอบกิจการเป็นระยะๆ เช่น ร้านอาหาร และร้านน้ำชา
ทั้ง 2 เรื่องมีการดำเนินการ โดยได้รับบริการจากรถพระราชทานชีวนิรภัย และรถโมบายวัคซีนเอสซีจี ลงพื้นที่ไปตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีน และมีหน่วยงานสนับสนุน คือ ทีม CCRT ลงไปสอบสวนโรครวมทั้งสิ้น 382 ทีม ซึ่งหลักการของทีม CCRT จะเป็นการตรวจคัดกรองไว การแยกกัก การรักษา และการบริการฉีควัคซีน ซึ่งเป็นการนำต้นแบบจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ใช้การจัดการระบบ CCRT ลงไปในพื้นที่
สุดท้ายทางจังหวัด มีการทำแผนดำเนินงานเชิงรุกของแต่ละจังหวัด เช่น มีการขับเคลื่อนผ่านศปส.(คณะกรรมการบูรณาการระดับพื้นที่) อย่างเช่น ในจังหวัดนราธิวาส มีการทำแคมเปญผ่านผู้นำศาสนา ก็คือ "ศ" แรก "ป" คือ ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน "ส" อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ซึ่งการทำแคมเปญในจังหวัดนราธิวาสใช้ชื่อแคมเปญว่า SAVE NARA NARA SAVE
สำหรับสงขลา จัดทำแคมเปญ SONGKHLA Fast For SONGKHLA Safe เน้น
ตรวจไว รักษาไว ถ้าไม่มีการติดเชื้อ เร่งฉีดวัคซีนโดยไว
พญ.สุมณี กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมศบค.มีความเป็นห่วง จากที่มีการรายงานการเสียชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า จากการรายงานของกรมควบคุมโรค การเสียชีวิตใน 4 จังหวัดภาคใต้ จะมีลักษณะเดียวกับภาคประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี คนที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ในจำนวนนี้รวมถึงหญิงตั้งครรภ์และเด็ก โดยกว่า 90% ของผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
ดังนั้น เป้าหมายหลัก คือ การระดมเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
สำหรับความครอบคลุมการรับวัคซีนใน 4 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดที่มีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เกิน 50% ของประชากร ได้แก่ สงขลาและยะลา นราธิวาส 43.9 % ปัตตานี 45.7 %
ความครอบคลุมการรับวัคซีนในกลุ่มอยู่สูงอายุใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 59.4 % ส่วนบุคคลที่มีโรคประจำตัว เฉลี่ยอยู่ที่ 57.9%