ผู้ป่วยโควิดเสี่ยงรุนแรง หมอมนูญแนะใช้ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี ลดตายได้ 70%

02 พ.ย. 2564 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 14:18 น.

หมอหมนูญชี้ควรให้ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดีกับผู้ป่วยโควิด-19 เสี่ยงที่จะดำเนินโรคต่อไปถึงขั้นรุนแรง ระบุลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้มากถึง 70%

รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 
ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (covid-19) ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะดำเนินโรคต่อไปถึงขั้นรุนแรง ได้แก่อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และหญิงตั้งครรภ์ ควรพิจารณาให้ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี (monoclonal antibody) หยดเข้าหลอดเลือดดำครั้งเดียว เร็วที่สุดที่ตรวจเจอและมีอาการภายใน 3-5 วัน 

ถ้าให้ยิ่งเร็วยิ่งดี ถ้าให้ช้ามีอาการรุนแรงแล้ว ไม่มีประโยชน์ ควรให้โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยรับวัคซีน หรือได้วัคซีนเพียง 1 โดส หรือได้วัคซีนเชื้อตาย 2 โดส เพื่อลดปริมาณเชื้อไวรัส ลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้มากถึง 70% ในอนาคตอันใกล้อาจใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาทางเลือก เพราะเป็นยากิน ราคาถูกกว่าโมโนโคลนอล แอนติบอดี

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

ผู้หญิงไทยอายุ 89 ปี เป็นเบาหวานโรคความดัน โรคหัวใจ ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 2 เข็ม มาโรงพยาบาลด้วยอาการไอ มีน้ำมูก ตาแดง 3 วัน ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ตรวจร่างกาย ตาแดง วัดระดับออกซิเจนได้ปกติ 98% เอกซเรย์ปอดปกติ แยงจมูกตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR SARS-CoV-2 ให้ผลบวก ค่า Cycle threshold value 11.8 ต่ำ บ่งถึงมีเชื้อไวรัสโควิด-19 เยอะมากในทางเดินหายใจ  มีค่าการอักเสบในเลือด hs-CRP 36 mg/L (ค่าปกติ 0-5)
วินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึงแม้จะได้รับวัคซีนครบโดส แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรง (อายุมาก เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ) จึงให้ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี REGEN-COV (Casirivimab and Imdevimab) หยดเข้าหลอดเลือดดำครั้งเดียวใน 1 ชั่วโมงในวันแรกที่เข้านอนรักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาตัวอื่นๆ  ผู้ป่วยไม่มีผลข้างเคียงใดๆจากการได้รับโมโนโคลนอล แอนติบอดี ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ไอน้อยลง ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ  ติดตามเอกซเรย์ปอดปกติ ผลเลือดดีขึ้น ผู้ป่วยหายเร็ว กลับบ้านได้ภายใน 7 วัน
สำหรับสถานการณ์ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังรักษาตัวอยู่ล่าสุดนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขวันที่ 2 พฤศจิกายน 64 พบว่า มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 98,444 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลหลัก 42,170 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 56,274 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 2,219 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 473 ราย