วันที่ 10 พ.ย.64 การประชุมพิจารณาแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในวันนี้ ซึ่งมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และมีนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กรมควบคุมโรค และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวสูงถึง 4 แสนอัตรา
นายสุชาติ กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับกระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MoU เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทะลักหลังการเปิดประเทศ โดยผลการสำรวจความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พบความต้องการถึง 4 แสนกว่าอัตรา ซึ่งผลการประชุมวันนี้ มีการหารือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรับฟังความเห็นจาก รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อทบทวนและหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยหลังหารือทุกหน่วยงานเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการฯตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และเตรียมเสนอต่อศบค. ในวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 คาดว่าจากนี้ 30 วันจะสามารถนำเข้าแรงงานตาม MoU ได้ทันที
เตรียมวัคซีนโควิดรองรับ 5 แสนโดส
“สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีความพร้อมเรื่องวัคซีนแล้ว ในส่วนนี้ผมเตรียมไว้ 4 - 5 แสนโดส เพื่อฉีดให้แก่แรงงานต่างด้าวในวันสุดท้ายของการกักตัว โดยแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีนยังไม่ครบจะต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT – PCR 2 ครั้ง โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจหาเชื้อ COVID-19 ค่ารักษา (กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อ COVID-19) โดยมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารวม 9,700 – 26,720 บาท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศยื่นแบบคำร้อง ณ กรมการจัดหางานหรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน โดยนายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการกักตัวคนต่างด้าว ได้แก่ ค่าสถานที่กักตัว ค่าตรวจโรคโควิด - 19 ค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อโรคโควิด - 19 หรือจัดให้มีกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ และรักษาพยาบาลซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด - 19 ค่าใช้จ่ายอื่นที่อาจเกิดขึ้นขณะกักตัวรวมถึงกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือโรคอื่นระหว่างกักตัว พร้อมแสดงหลักฐานการจอง การชำระค่าใช้จ่ายสถานที่กักตัวซึ่งทางราชการกำหนดหรือสถานที่กักตัวเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการในประเทศ และนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ ต้องมียานพาหนะเพื่อรับคนต่างด้าวไปยังสถานที่กักตัวโดยไม่เดินทางร่วมกับบุคคลอื่น รวมถึงห้ามแวะพักสถานที่ใด ๆ ก่อนถึงสถานที่กักตัว ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสาร ออกใบรับ และจัดทำหนังสือส่งคำร้องให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศต้นทางของคนต่างด้าว
2. ฝั่งประเทศต้นทางรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา จัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าวส่งให้นายจ้างไทย
3. นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) ที่ผ่านการรับรองจากประเทศต้นทางของคนต่างด้าวแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานที่ระบุในแบบคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว รวมถึงแสดงเอกสารหรือหลักฐานการได้รับวัคซีนของคนต่างด้าวครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด ซึ่งต้องเป็นวัคซีนที่รับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทาง (ถ้ามี)ให้นายจ้างจัดซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด - 19 และจัดให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการที่ต้องเข้าประกันสังคมเข้าระบบประกันสังคม กรมการจัดหางานตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนของเอกสารหลักฐานต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดเก็บเงินค่ายื่นคำขอ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน (2 ปี) 1,900 บาท และค่าหลักประกัน (กรณีนายจ้างนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานเอง) 1,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน และออกใบเสร็จรับเงินให้นายจ้าง
4. กรมการจัดหางานจัดทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทาง กัมพูชา ลาว) /สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อพิจารณาตรวจลงตราวีซ่า (Non - Immigrant L-A) ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาท แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้ โดยนายจ้าง ผู้รับอนุญาตฯ รับหนังสือจากกรมการจัดหางานและจัดส่งให้คนต่างด้าว พร้อมแจ้งกำหนดวันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามวันที่ได้รับคิวเข้ารับการกักกันตัว
5. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงเอกสาร หลักฐานที่ได้รับจากนายจ้าง และแสดงใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 ตรวจโดยวิธี RT-PCR มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางเข้ามา และใบรับรองการได้รับวัคซีนโควิด - 19 ตามเกณฑ์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการทำงาน (Non - Immigrant L-A) เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานแจ้งไว้เท่านั้น โดยต้องเดินทางตามเส้นทางที่กำหนด ห้ามแวะสถานที่ใดๆ ก่อนถึงสถานที่กักตัว และยานพาหนะต้องสามารถบันทึกภาพได้ตลอดระยะเวลาเดินทาง
6. คนต่างด้าวต้องเข้ารับการกักตัว และมีการตรวจหาเชื้อโรคโควิด - 19 โดยวิธี RT - PCR ดังนี้
โดยกระทรวงแรงงาน สนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แรงงานต่างด้าวในวันสุดท้ายของการกักตัว ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด - 19 ให้เข้ารับการรักษา โดยค่าใช้จ่ายในการรักษานายจ้างหรือกรมธรรม์ ที่นายจ้างทำให้คนต่างด้าวเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อคนต่างด้าวกักตัวครบตามกำหนดและตรวจไม่พบเชื้อโควิด - 19 หรือได้รับการรักษาหายแล้ว คนต่างด้าวดำเนินการตรวจโรค 6 โรค และนายจ้างผู้รับอนุญาตฯ จึงรับคนต่างด้าวไปยังสถานประกอบการ
7. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 15 วัน นับจากวันที่รับการอบรม โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
ในส่วนนายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีประโยชน์มาก เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยเร็ว ซึ่งผมคิดว่าสถานประกอบการเองก็ยินดีจะจ่าย เรื่องวัคซีนรัฐบาลก็เป็นผู้รับผิดชอบ