จากกรณีปัญหาที่พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ไม่มีบทบัญญัติว่า บรรณาธิการจะต้องรับผิดในกรณีที่มีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทโดยอัตโนมัติ เหมือนกับที่เคยมีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ที่ยกเลิกไปแล้ว ทำให้เกิดปัญหาต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ศาลมีแนวคำพิพากษามาโดยตลอดว่า หากฝ่ายโจทก์จะฟ้องร้องเอาผิดกับบรรณาธิการ ฝ่ายโจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบรรณาธิการมีส่วนรับรู้ หรือรู้เห็นต่อการกระทำนั้นๆ โดยชัดแจ้ง จึงจะถือว่า เป็นผู้ร่วมกระทำการหมิ่นประมาท ซึ่งเคยมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้วตั้งแต่ปี 2560
แต่ต่อมาเมื่อปี 2562 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ได้กลับแนวคำพิพากษาให้ภาระการพิสูจน์ว่าบรรณาธิการไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นภาระของฝ่ายจำเลย ทำให้เมื่อมีการฟ้องร้องบรรณาธิการให้ร่วมรับผิดด้วย ภาระการพิสูจน์จะตกมาที่ฝ่ายจำเลยคือ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์
ดังนั้น เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ดังกล่าว สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จึงจัดให้มีการเสวนาเพื่อหารือในกลุ่มองค์กรสมาชิกด้านหนังสือพิมพ์ โดยขอเชิญท่านหรือผู้แทนองค์กรละไม่เกิน 2 คน (ฝ่ายบรรณาธิการและฝ่ายกฎหมาย) เข้าร่วมการเสวนา ในวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือ ผ่านทางระบบออนไลน์ (ZOOM Meeting)