รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
พลิกวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 (covid-19) ให้เป็นโอกาสในการพัฒนาระบบการเรียนการสอนลูกหลาน นักเรียน นิสิต และนักศึกษา
สองปีที่ผ่านมา เราทุกคนทั้งเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ทุกเพศทุกวัยล้วนได้รับผลกระทบจากโรคระบาดนี้กันหมดทั้งในด้านสุขภาพกาย จิตใจ ความสัมพันธ์สังคม ผลต่อเศรษฐกิจส่วนบุคคลและครัวเรือน รวมไปถึงผลกระทบด้านการเรียนรู้ ไม่มีโอกาสได้เรียนแบบปกติ งุนงงสับสนกับภาวะข้อมูลท่วมท้นและมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ ที่หาโอกาสหากินช่วงชิงประโยชน์ท่ามกลางความเดือดร้อนทุกข์ยาก
พ่อแม่และครูบาอาจารย์ในระบบการศึกษาทุกระดับ ทั้งที่บ้าน และที่สถานศึกษาสามารถที่จะสอน ให้ความรู้ ทำความเข้าใจ กับลูกหลาน ตั้งแต่เล็กไปจนถึงโต ในเรื่องของเชื้อโรคอย่างไวรัสโควิด-19
แลกเปลี่ยน หยิบยกตัวอย่างจริงในสังคม มาบอกเล่าเก้าสิบ ให้เด็กๆ ได้รู้ว่ามันคืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร แพร่เชื้อติดเชื้อกันได้ทางใด ยากง่ายแค่ไหน ทำอันตรายต่อร่างกายเราอย่างไร และทำให้ป่วย ทำให้ตายได้มากน้อยเพียงใด
เปรียบเทียบ ยกตัวอย่างไทยเรากับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ว่าสองปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ก่อนจะนำเข้าไปสู่หลักในการประเมิน สำรวจตนเองสม่ำเสมอว่าเมื่อใดจึงจะสงสัยว่าจะติดเชื้อ อาการที่พบบ่อยเป็นอย่างไร หากสงสัยแล้วจะไปตรวจอย่างไรได้บ้าง และหากเป็นแล้วจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะปลอดภัยทั้งตนเองและคนรอบข้าง
อาจยังไม่ต้องคุยลึกไปถึงวิธีรักษาเฉพาะเจาะจง แต่สามารถเชื่อมโยงไปถึงหลักการป้องกันตัวแต่ละวิธี ไม่ว่าจะเรื่องหน้ากากแต่ละชนิด วิธีการใส่ การเก็บรักษา ใช้ซ้ำได้หรือไม่ได้ ควรใช้ซ้ำหรือไม่ควร ประโยชน์ของการรักษาระยะห่างจากคนอื่น การล้างมือหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ เป็นต้น
ในสถานศึกษาที่ระดับสูงขึ้นมา เช่น มัธยมต้น มัธยมปลาย มหาวิทยาลัย ยังสามารถใช้ตัวอย่างวิกฤติโรคระบาดนี้ดึงดูดให้เด็กๆ สนใจทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ยกตัวอย่างจริงตั้งแต่การเริ่มระบาดในจีนว่าเหตุใดจึงสงสัยว่าเกิดโรคระบาดใหม่ขึ้นมา เค้าทำการค้นหาจนเจอเชื้อไวรัส SARS-COV-2 ได้อย่างไร มีเทคนิคและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อะไรบ้างที่ช่วยในการตรวจหาจนค้นพบโรคนี้ จนนำไปสู่การทำความเข้าใจโรคและทำให้โลกวางแผนรับมือการระบาดได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ในสาขาวิชาเฉพาะ เช่นทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็สามารถทำให้เด็กๆ เข้าใจและอินกับเรื่องกระบวนการศึกษาวิจัย พัฒนายา วัคซีน หรือเครื่องมืออุปกรณ์ป้องกันชนิดต่างๆ รวมถึงวิธีการประหยัดทรัพยากรแต่ยังคงไว้ซึ่งระดับความปลอดภัยที่ยอมรับได้ เช่น วิธีการทำความสะอาดฆ่าเชื่้ออุปกรณ์บางชนิดที่มีจำกัดเพื่อมาใช้ซ้ำ เป็นต้น
เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนั้นสำคัญยิ่งนัก เพราะต้องยอมรับว่าวิกฤติในรอบสองปีที่ผ่านมา คุกคามสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม และทุกคนล้วนรับรู้กันได้เป็นอย่างดี และย่อมไม่อยากเจอกับปรากฏการณ์เหล่านั้นอีก
การจะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติในอนาคต จำเป็นจะต้องทำให้คนในสังคมโดยเฉพาะเด็กๆ ลูกหลานมีความรู้ ความเข้าใจ รู้เท่าทัน จนกลายเป็นประชากรที่มี health literacy และสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ก็จะไม่เกิดสถานการณ์ที่คิดว่า สิ่งคุกคามนั้นกระจอก โดยที่ไม่รู้จริงว่าสิ่งคุกคามนั้นแท้จริงแล้วร้ายกาจมากกว่าที่คิด
ก็จะทำให้เกิดการวางแผนนโยบาย มาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบ ไม่คิดว่าสถานการณ์ดูเงียบสงบ ไม่ต้องขวนขวายหาทรัพยากรต่างๆ จนเกินงาม คิดว่าที่มีที่เตรียมนั้นเพียงพอ รับมือได้สบาย จนต้องทำให้เกิดความเสี่ยงเวลาที่เกิดวิกฤติจริงแล้วรับมือไม่ไหว และทำให้คนจำนวนมากต้องติด ต้องป่วย ต้องตายไปจำนวนมาก โดยไม่สามารถมีเวทมนตร์ใดมาเสกให้ฟื้นคืนมาได้
ในอนาคตต้องไม่มีปรากฏการณ์กระจอก ธรรมดา เพียงพอ เอาอยู่ โดยเดิมพันด้วยความเสี่ยงต่อชีวิตของทุกคนในสังคม
แต่จำเป็นต้องหาทางพัฒนาทำให้คนในสังคมมีความรู้ มีสมรรถนะในการค้นหาข้อมูล ทำความเข้าใจ รู้เท่าทัน และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมโดยใช้ความรู้เป็นเข็มทิศ
และสำคัญมากอีกประการคือ การทำให้เกิดกลไกถ่วงดุลและตรวจสอบกระบวนการตัดสินใจของหน่วยงานและกลุ่มคนที่บริหารนโยบายและดำเนินมาตรการที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคน
โปร่งใส, ตรวจสอบได้, มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่กระทำ, เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมในรับรู้ ไถ่ถามจนกระจ่างในกระบวนการตัดสินใจนโยบาย, ดำเนินการตามหลักฉันทามติ ที่มิใช่แค่คนใดคนหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง, ใช้ความรู้เชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่า, เป็นธรรม, และถูกต้องตามกฎระเบียบต่างๆ...ซึ่งก็คือองค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล (Good governance) นั่นเอง