รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 วัคซีน การใส่หน้ากากอนามัย กับการพัฒนาการของเด็ก
หมอยง ระบุว่า ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หรือ ภาวะปกติต่อไป (next normal) การใส่หน้ากากอนามัยเป็นผลดีในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในระบบทางเดินหายใจ ไม่ใช่เฉพาะ โควิด-19 เท่านั้น แม้กระทั่งวัณโรคที่เป็นปัญหาในประเทศไทย
ในขณะเดียวกันในช่วงเด็กกำลังพัฒนา สิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะเด็กเล็ก จะต้องมีการเรียนรู้ทางด้านภาษา โดยเฉพาะการพูดและการฟัง ในการพูด ถ้ามีหน้ากากอนามัย ก็อาจจะทำให้การพูดลำบากกว่าปกติ การสะกดเสียงต่างๆ และในการฟัง การเรียนรู้ จะมีทั้ง ภาษาพูดและภาษาท่าทาง (verbal และ nonverbal) ในภาษาท่าทาง
การฟังเสียงพูดเด็กจะสังเกตริมฝีปาก สีหน้าและจะมีการเข้าใจความหมายที่พูดได้เพิ่มขึ้น การใส่หน้ากากอนามัย ก็อาจจะมีผลในการปิดกั้นพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาพูด และภาษาท่าทางของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก โดยทั่วไปเด็กต่ำกว่า 2 ขวบก็ไม่ควรใส่หน้ากากอนามัย รวมทั้งเด็กเล็กที่อยู่ในบ้าน
สิ่งที่สำคัญเราอยากให้โรคนี้สงบอย่างรวดเร็ว และชีวิตที่ใช้จะได้กลับคืนสู่ปกติ ถึงแม้ว่าจะมีภาวะปกติต่อไป next normal บางสิ่งบางอย่าง ก็อาจจะมีความจำเป็น ทางด้านพัฒนาการของเด็ก
ถ้าเราอยากให้โรคโควิด-19 สงบ หรือมีผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการน้อย และมียารักษา ทุกคนควรจะได้รับวัคซีนให้เกิดภูมิต้านทาน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และต่อไปถึงแม้ว่าจะมีการติดเชื้อ ก็จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เชื้อจะไปกระตุ้นภูมิต้านทานของเรา ให้เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเราก็จะอยู่กับโรคโควิด-19 เหมือนโรคทางเดินหายใจอื่นๆ
จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกคนได้รับวัคซีน อย่างน้อย 2 เข็มก่อน และในที่สุดทุกคน ก็จะต้องได้รับการกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อให้ภูมิคงอยู่ และอยู่นาน ต่อไปชีวิตต่างๆก็จะค่อยๆกลับคืนสู่ภาวะปกติ
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 6,855 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,022,117 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,655 ราย กำลังรักษา 89,821 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,913,428 ราย