ศบค.แจงเหตุเลื่อนเปิดกิจการสถานบันเทิง

19 พ.ย. 2564 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2564 | 14:51 น.

ศบค.แจงเหตุเลื่อนเปิดกิจการสถานบันเทิง ชี้ต้องมองให้รอบด้าน รอบคอบ ย้ำให้ความสำคัญกับทุกกิจการ กิจกรรม ไม่ได้มีการเลือกปฎิบัติ

วันที่ 19 พ.ย.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงข่าว ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ช่วงหนึ่งว่า ประเด็นที่มีการหารือกันในวันนี้ คือ การเปิดกิจการสถานบันเทิง หรือกิจการคล้ายสถานบันเทิง ซึ่งในที่ประชุมให้ความสำคัญกับทุกกิจการ กิจกรรม ไม่ได้มีการเลือกปฎิบัติ จากกรณีมีมาตรการชะลอออกไปก่อน โดยคร่าวๆคาดว่า น่าจะเป็นวันที่ 16 ม.ค.65  ที่กิจการสถานบันเทิงน่าจะเปิดได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ 

พญ.อภิสมัย กล่าวชี้แจงว่า จำเป็นต้องเลื่อน จากการพิจารณาของหลายฝ่าย ต้องพิจารณามองให้รอบด้านอย่างรอบคอบ และข้อสรุปการประชุมที่ผ่านมาเห็นสมควรให้เปิดเมื่อพร้อม และตัวแทนผู้ประกอบการเองก็เข้าใจ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการ

ผู้ช่วยโฆษก กล่าวว่า นอกจากเหตุผลทางด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับทุกหน่วยงานในศบค.ประชุมร่วมกัน เพราะว่า การแพร่ระบาดยังอยู่ในภาวะทรงๆ แม้ว่าทิศทางจะดีขึ้น แต่ยังกดตัวเลขให้ต่ำกว่า 5,000 รายไม่ได้ และจำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ระดับวันละ 50 ราย

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในพื้นที่พบว่า สถานบริการประเภทนี้ ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนขอรับการพิจารณายกระดับเป็นสถานประกอบการได้มาตรฐาน SHA + หมายถึงเป็นสถานบริการที่มีมาตรฐานควบคุมโควิด-19  เพื่อรองรับการเปิดกิจการ กิจกรรมตามหลักวิถีใหม่ ให้เป็นสถานบริการปลอดโควิด-19

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า ข้อมูล ณ 18 พ.ย. 64 พื้นที่ กทม. มีสถานประกอบการได้รับมาตรฐาน SHA+ เพิ่มขึ้น 1,216 แห่ง หากรวมที่สะสมทั้งหมด 7,994 แห่ง ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมความงาม บริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก เช่นเดียวกับเชียงใหม่ มีรายงานได้มาตรฐาน SHA+ จำนวน 1,515 แห่ง ในจำนวนนี้สูงสุดยังคงเป็นร้านอาหาร 512 แห่ง และโรงแรม 486 แห่ง รวมทั้งโฮมสเตย์ 

ศบค.แจงเหตุเลื่อนเปิดกิจการสถานบันเทิง

ศบค.แจงเหตุเลื่อนเปิดกิจการสถานบันเทิง

หากดู ข้อมูล กรมอนามัย จากการประเมินตามมาตรฐาน COVID Free Setting ที่ เชียงใหม่ มีตลาดนัดผ่านเกณฑ์ 1 แห่ง จำพวกตลาดสด 14 แห่ง โรงภาพยนตร์ 2 แห่ง และขนส่ง สถานีรถไฟ สนามบิน ขณะที่ ร้านอาหารริมบาธวิถี ผ่านการประเมิน COVID Free Setting จำนวน 1 แห่ง น่าจะต้องติดตามและให้กำลังใจผู้ที่ลงทะเบียนเข้ามาและผ่าน 

ศบค.แจงเหตุเลื่อนเปิดกิจการสถานบันเทิง

 

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลสำคัญที่ประชุม และขอความร่วมมือ คือ หากท่านเป็นผู้ประกอบการ ต้องให้บริการลูกค้า ต้อนรับนักท่องเที่ยว ถือเป็นกิจการเสี่ยง มีการรวมกลุ่มของประชาชน ขอให้เข้าไปดูเว็บไซต์กรมอนามัย ศึกษาข้อปฏิบัติ เริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ เพราะการประเมิน COVID Free Setting เป็นการประเมินตนเอง หากไม่แน่ใจสามารถให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยตรวจสอบ และเมื่อตรวจสอบแล้ว จะมีมาตรการบางอย่างที่จะได้เรียนรู้หากทำไม่ครบ หรือต้องปรับแก้

 

"ตอนนี้ถือว่ายังมีเวลา หากทำครบถ้วน ขอให้ไปติดต่อขึ้นทะเบียนเพื่อรับการประเมินยกระดับเป็นสถานประกอบการมาตรฐาน SHA+ และเมื่อผ่าน ททท. จะขึ้นป้ายให้ว่าเป็นสถานบริการที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ หลังจากนี้จะเปิดบ้านเปิดเมืองนักท่องเที่ยวก็จะดูมาตรฐาน SHA+ เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก" 

 

การเปิดหรือไม่เปิดดำเนินกิจการ ไม่ได้อยู่ในความตัดสินใจของ ศบค. แต่จะดูที่ความพร้อมสถานประกอบการของท่าน ทั้งการจัดการของเจ้าของกิจการ พนักงาน รวมทั้งจัดการสถานที่ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก

 

ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ กทม. มหาดไทย ฝ่ายปกครอง ช่วยประชาสัมพันธ์เชิงรุก ชักชวนผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้าใจว่า SHA คืออะไร COVID Free Setting มีมาตรฐานต้องทำอะไร อย่างไร ตอนนี้อาจจะทำได้บ้างแต่ยังไม่ครบ ขอให้สนับสนุนเพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามแผน โดยนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่าจะไม่มีการทอดทิ้ง กิจการกิจกรรมใดไว้เบื้องหลัง เราจะต้องผ่านพ้นไปด้วยกัน