“ศิริราช” จับมือ “มูลนิธิไทยคม” มอบรถ Mobile รักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

27 พ.ย. 2564 | 05:07 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2564 | 12:13 น.

“ศิริราช” จับมือ “มูลนิธิไทยคม” ภาคีเครือข่าย มอบรถ Mobile รักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง เปิดโครงการนำร่อง สุราษฎร์ หยิบยื่นการเข้าถึงของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล 6 อำเภอ

รวมพลัง

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ยงชัย นิละนนท์  ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงโครงการ Mobile Stroke Unit -Stroke One Stop ( MSU-SOS) ว่า ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช มูลนิธิไทยคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย ร่วมกันส่งมอบรถ Mobile Stroke Unit ให้แก่โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม  จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งมีการจัดอบรม กระบวนการปฏิบัติงานบนรถ Mobile Stroke Unit รวมถึงแผนการส่งต่อและซักซ้อมระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยาน เมื่อวันที่ 15 – 19 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมและครบวงจร  การมอบรถเคลื่อนท่ีเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในโครงการดังกล่าวจะเป็นการยกระดับการรักษาแบบครบวงจรให้กับประชาชน โดยในหน่วยรถเคลื่อนท่ี จะประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาล นักรังษี และคนขับรถ ดังนั้นการเปิดโครงการนำร่องที่อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ถือเป็นอำเภอที่อยู่ในฝั่งตะวันตกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

มีเขตติดต่อกับ อำเภอท่าโรงช้าง เคียนซา วิภาวดี บ้านตาขุน และอำเภอพนม โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลตรัง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองบินตำรวจ สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาธารณสุขจังหวัดสงขลา และสาธารณสุขจังหวัดตรัง ซึ่งการนำร่องโครงการดังกล่าวในพื้นที่จะสามารถช่วยร่นระยะเวลาการเข้าถึงการรักษาของประชาชนในพื้นที่ 6 อำเภอได้ดียิ่งขึ้น

บรรยากาศ

นายแพทย์ณัฐพงศ์ กนกกวินวงศ์ ประธานศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “การนำร่องโครงการ Mobile Stroke Unit – Stroke One Stop ( MSU-SOS) ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถช่วยร่นระยะเวลาการเข้าถึงการรักษาของประชาชนในพื้นที่ 6 อำเภอให้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นเขตห่างไกลจากโรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานี ใช้เวลาเดินทางเฉลี่ย 1 ชม. ทำให้อัตราการเข้าถึงการรักษาค่อนข้างยาก  จึงเป็นสาเหตุในการนำรถMobile มาไว้ที่โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงการรักษาได้มากกว่าปัจจุบัน

 

ด้าน  นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “บทบาทของ สสจ. จะขับเคลื่อน คือการจัดการในภาพรวมทั้งหมด โฟกัสที่ระบบการรักษาและประสานงานกับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีและของมหาลัยมหิดล และในส่วนเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้เป็นทีมเดียวกัน Stroke unit ของ จังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องเป็น One Team ในการแชร์ริ่งองค์ความรู้ แชร์ริ่งต่างๆ ช่วยกัน ในการที่จะขับเคลื่อนระบบการรักษาทั้งหมดให้ได้”