รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529
ไวรัสสายพันธุ์ที่พบใหม่นี้ เป็นสายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้ องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อสายพันธุ์นี้ว่า "โอไมครอน"
โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งชื่อก่อน เป็น นู (Nu) ผมเองก็แปลกใจ ที่จริงภาษากรีก ตัว N จะต้องอ่านว่า นิว (อังกฤษ: nu) หรือ นี (กรีก: νι, ตัวใหญ่ Ν, ตัวเล็ก ν) เป็นอักษรกรีกตัวที่ 13 ไม่ใช่อ่านว่า นู
ในสมัยก่อนการตั้งชื่อไม่ว่าจะเป็นไวรัส ชื่อโรค เรามักจะใช้สถานที่ เช่นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ชื่อสัตว์เช่นไข้หวัดหมู เป็นต้น ต่อมาพบว่า การใช้ดังกล่าวตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่ 2009 ถ้าจะเรียกจริงๆก็จะต้องเรียกว่าไข้หวัดใหญ่อเมริกันหรือไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก เพราะพบครั้งแรกที่อเมริกา โดยมาจากเม็กซิโก อเมริกันเองไม่ยอม เพราะเหมือนเป็นตราบาป ของสถานที่ ก็เลยต้องเรียกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ต่อมา covid-19 เกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น แม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ยังจะเรียกว่าปอดบวมจีน หรือเน้นคำว่าจีน จะเรียกโรคปอดบวมอู่ฮั่น ทางจีนก็คงไม่ยอม องค์การอนามัยโลกเลยตั้งชื่อเป็นตัวย่อของเชื้อไวรัสที่ก่อโรคเพื่อไม่ให้เกิดตราบาปต่อสถานที่
องค์การอนามัยโลกตั้งใจที่จะตั้งชื่อสายพันธุ์ของไวรัสก่อโรค COVID โดยใช้พยัญชนะภาษาลาตินเรียงลำดับ ดังนั้น เรียงลำดับไปถึงโอไมครอน หรือเขียนเป็นตัว Ο ο อ่านว่า โอไมครอน
การตั้งชื่อไวรัสโควิด- 19 ที่มีการกลายพันธุ์ องค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้ตั้งชื่อขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนเรียกเหมือนกัน ไม่ใช่ตั้งชื่อกันเอง
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศระบบเรียกชื่อใหม่ของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ตามอักษรกรีก แทนความนิยมของคนทั่วไปและสื่อที่เรียกชื่อสายพันธุ์ด้วยชื่อประเทศหรือสถานที่เพื่อให้ง่ายต่อการอ้างอิงถึง รวมทั้งลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองที่มาจากประเทศที่ตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์เหล่านี้เป็นแห่งแรก
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้่อมูลการตั้งชื่อสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่า WHO ได้ตั้งชื่อเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ โดยจำแนกไว้เป็น 2 กลุ่ม คือ เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern หรือ VOC) และเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variants of Interest หรือ VOI)
เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในระดับที่มีนัยสำคัญต่อสาธารณสุขโลก เช่น แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น หรือทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง มีชื่อตามอักษรกรีกดังนี้
อัลฟา (Alpha) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.1.7 ที่ตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร
เบตา (Beta) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.351 ที่ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้
แกมมา (Gamma) ใช้เรียกสายพันธุ์ P.1 ที่ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล
เดลตา (Delta) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.617.2 ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย
เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือน่าจับตา มีชื่อตามอักษรกรีกดังนี้
เอปไซลอน (Epsilon) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.427/B.1.429 ที่ตรวจพบครั้งแรกในสหรัฐฯ
ซีตา (Zeta) ใช้เรียกสายพันธุ์ P.2 ที่ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล
อีตา (Eta) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.525 ที่ตรวจพบครั้งแรกในหลายประเทศ
ธีตา (Theta) ใช้เรียกสายพันธุ์ P.3 ที่ตรวจพบครั้งแรกในฟิลิปปินส์
ไอโอตา (Iota) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.526 ที่ตรวจพบครั้งแรกในสหรัฐฯ
แคปปา (Kappa) ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.617.1 ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย
WHO ระบุว่า การใช้ระบบเรียกชื่อใหม่ของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยอักษรกรีก มีขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและใช้เรียกนอกแวดวงวิทยาศาสตร์ รวมทั้งช่วยไม่ให้ประเทศหรือสถานที่ใดถูกตราหน้าว่าเป็นต้นตอการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์นั้น ๆ