รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
รวดเร็วกว่าที่คิด !! ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ได้แพร่ระบาดไปใน 4 ประเทศยุโรปคือ อังกฤษ เยอรมัน อิตาลี และเบลเยียมแล้ว
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่พบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ชื่อ โอไมครอน(Omicron) ซึ่งเป็นอักษรกรีกอันดับที่ 15
โดยองค์การอนามัยโลก ได้ขยับจากไวรัสที่ต้องติดตาม (VUM : Variant Under Monitoring) ซึ่งเป็นความรุนแรงระดับที่ 3
ขึ้นสู่ไวรัสที่น่าเป็นห่วง (VOC : Variant Of Concern) หรือความรุนแรงระดับที่ 1
ด้วยเหตุผลว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงที่หนาม (Spike) อย่างชัดเจน
ซึ่งอาจส่งผลกระทบ ทำให้มีการติดเชื้อง่ายและแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น
อาจจะทำให้มีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากขึ้น และที่สำคัญอาจทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยด้วย ATK หรือ PCR ก็อาจจะได้ผลที่แม่นยำน้อยลงด้วย
เรื่องไวรัสโอไมครอนนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั่วโลก จนทำให้รัฐบาลหลายประเทศ ได้ออกข้อจำกัด ห้ามพลเมืองของประเทศในแอฟริกาภูมิภาคตอนใต้ประมาณ 7-10 ประเทศเดินทางเข้าสู่ประเทศตนเอง
ในเบื้องต้น ได้แก่ ประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ อิสราเอล ซึ่งได้ประกาศห้ามไปแล้ว
และในขณะนี้ ได้มีประเทศที่ประกาศห้ามเพิ่มเติมอีกประกอบด้วย ไทย แคนาดา ออสเตรเลีย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย โอมาน โมร็อกโก และศรีลังกา
และยังมีข่าวความคืบหน้าว่าอิสราเอลอาจจะทำการปิดประเทศเป็นเวลาสองสัปดาห์เต็ม
รวมทั้งประเทศในยุโรปอีก 3 ประเทศ กำลังรอการตรวจยืนยันว่าผู้ติดเชื้อที่พบนั้นเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ได้แก่ ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ค และเนเธอร์แลนด์
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า
ไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือโอไมครอน เป็นไวรัสก่อโรคโควิดที่มีจุดเริ่มต้นจากแอฟริกาใต้และบอตสวาน่า และแพร่ไปอีก 10 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้
ต่อมามีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มาสู่ทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย
ซึ่งคาดว่า น่าจะมีการแพร่ระบาดกว้างขวางต่อไปอีก เนื่องจากเมื่อย้อนหลังกลับไปตรวจผู้ติดเชื้อรายแรก
พบตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 แต่เพิ่งมีการประกาศยืนยัน โดยข้อมูลที่ชัดเจนในสองสัปดาห์ต่อมา
จึงคาดได้ว่า น่าจะมีผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นไวรัสโอไมครอน ได้เดินทางไปประเทศต่างๆทั่วโลกแล้วในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
ก็หวังว่าการกลายพันธุ์ในส่วนหนามของไวรัสนี้ จะทำให้การแพร่ระบาด ความรุนแรง และการดื้อต่อวัคซีนนั้นไม่มากนัก
เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงหรือดื้อวัคซีนอย่างมาก สถานการณ์ของมนุษยชาติ ก็อาจจะกลับไปสู่การระบาดระลอกใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในระดับน้องๆของการระบาดเหมือนกับเมื่อสองปีที่แล้วก็เป็นได้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4,753 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,082,703 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,165 ราย กำลังรักษา 77,811 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,985,595 ราย