ไทยเจ๋งตรวจพบโอไมครอนรายแรกเร็ว หมอเฉลิมชัยชี้มาตรฐานคัดกรองระดับโลก

06 ธ.ค. 2564 | 08:48 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2564 | 12:26 น.

ไทยเจ๋งตรวจพบโอไมครอนรายแรกเร็ว หมอเฉลิมชัยชี้มาตรฐานคัดกรองระดับโลก ระบุใช้องค์ความรู้ในการตรวจ PCR ที่เป็นบวก รายใดถ้ามีตำแหน่งที่หายไปจะตรวจจีโนมทันที

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ด่วน !! พบผู้สงสัยติดโอไมครอนรายแรกของไทยแล้ว ทำไมระบบของเราจึงตรวจพบได้รวดเร็ว
วันนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แถลงข่าวด่วนว่า จากระบบการเฝ้าระวังไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะโอไมครอน (Omicron)
ได้พบผู้ต้องสงสัย ซึ่งเกือบจะแน่นอนแล้วว่าติดเชื้อโอไมครอนจริง โดยผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นคนไทยสัญชาติอเมริกันอายุ 35 ปี อาชีพนักธุรกิจ ไปอยู่ที่สเปนมาเป็นเวลาหนึ่งปี
โดยเป็นผู้ที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เคยติดโควิดมาก่อน และได้รับวัคซีน Johnson & Johnson มาแล้วหนึ่งเข็ม
28 พฤศจิกายน 2564 ออกเดินทางจากสเปน ผลตรวจต้นทาง(PCR)เป็นลบ ไม่มีการติดเชื้อ
 

29 พฤศจิกายน 2564 พักเปลี่ยนเครื่องที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 9 ชั่วโมง โดยที่สวมหน้ากาก และไม่ได้พูดคุยกับใคร
30 พฤศจิกายน 2564 มาถึงประเทศไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วเข้าสู่ระบบ Test&Go โดยการตรวจหาด้วยวิธี PCR ที่โรงพยาบาลคู่สัญญา
1 ธันวาคม 2564 ทางโรงพยาบาลแจ้งผลว่า ติดโควิด แต่ยังไม่ทราบชนิดของสายพันธุ์ โดยพบปริมาณไวรัสค่อนข้างน้อย (Ct = 33.10)
3 ธันวาคม 2564 ได้ตรวจหารหัสสารพันธุกรรมหรือจีโนม(Genome) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และค่อนข้างแน่นอนว่า เป็นไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน

ไทยเจ๋งตรวจเจอโอไมครอนไว
โดยที่ผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว ไม่มีอาการแต่อย่างใด เอกซเรย์ปอดปกติ
ทำให้พอจะสบายใจได้ในระดับหนึ่งว่า ระบบการตรวจคัดกรองไวรัสสายพันธุ์ใหม่ของผู้ที่จะผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าประเทศไทยนั้น
เรามีมาตรฐานสากล และตรวจพบได้รวดเร็ว เพราะการตรวจหาสารพันธุกรรมหรือจีโนม ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะทำในผู้ติดเชื้อได้ทุกราย

เพราะขั้นตอนการตรวจซับซ้อน ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมาก
การตรวจพีซีอาร์ ทำได้ง่าย ค่าใช้จ่ายถูกกว่า จึงสามารถทำได้กับผู้เดินทางเข้ามาทุกคน แต่จะไม่ทราบชนิดของสายพันธุ์ไวรัส
ทั่วโลกจึงไม่สามารถตรวจจีโนมของตัวอย่างในผู้มีผล PCR เป็นบวกทุกรายได้
แต่ในกรณีของประเทศไทย เราใช้องค์ความรู้ว่า ในการตรวจ PCR ที่เป็นบวก รายใดถ้ามีตำแหน่งที่หายไป ก่อให้เกิดความสงสัยว่าเป็นโอมมิครอนเราจะตรวจจีโนมทันที
และในผู้ติดเชื้อรายนี้ เราพบการหายไปในตำแหน่ง K417N และ L452R ทำให้สงสัยว่าจะเป็นโอมมิครอน จึงส่งตรวจหาสายพันธุ์ และยืนยันในเบื้องต้น ว่าค่อนข้างแน่นอนเป็นโอไมครอนจริง
นับเป็นข่าวดี ที่ระบบการคัดกรองของไทยมีมาตรฐานสูง ตรวจจับได้เร็ว

ไทยมีมาตรฐานสากล และตรวจพบโอไมครอนได้รวดเร็ว
ส่วนสิ่งที่จะต้องพึงระมัดระวังคือ จะต้องช่วยกันคัดกรองและตรวจจับ ไม่ให้มีโอไมครอนหลุดเข้ามาแบบเราไม่ทราบ จะทำให้เกิดการระบาดภายในประเทศกันเอง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถของไวรัสที่มีการแพร่รวดเร็วกว้างขวางกว่าเดลต้าหลายเท่า
ในท้ายที่สุด ก็คงจะพบในทุกประเทศเช่นเดียวกับไวรัสเดลตา ซึ่งในปัจจุบันมีเดลต้าครองโลกอยู่
เราจึงควรร่วมมือกันฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และระวังตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยบ่อยต่อไป ก็จะทำให้ประเทศไทยเราสามารถรับมือกับไวรัสโอไมครอนได้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 6 ธันวาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 4,000 ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,116,378 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,450 ราย กำลังรักษา 69,010 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,027,839 ราย