รับมือ ฝุ่นPM2.5 สธ.เตรียมนำมาตรการสกัดโควิดมาปรับใช้

16 ธ.ค. 2564 | 05:41 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 13:01 น.

รับมือ ฝุ่น PM2.5 สธ.เตรียมนำมาตรการสกัดโควิดมาปรับใช้ทั้งการ ลดกิจกรรม Work from home แบ่งจังหวัดตามระดับสี

อัพเดท "ฝุ่น PM2.5" ล่าสุดวันนี้ (16 ธันวาคม 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กล่าวว่า การรับมือกับสถานการณ์จากฝุ่น PM2.5

ช่วงฤดูหนาว ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ได้มอบในที่ประชุม โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พิจารณามาตรการโควิด 19 ที่สามารถต่อยอดการป้องกันฝุ่น PM2.5 ด้วย

โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันโควิดแล้วยังป้องกันฝุ่นได้ หากผู้ที่ใช้หน้ากากอนามัย ชนิด N95 ก็จะได้รับผลกระทบน้อย ส่วนหน้ากากชนิดทั่วไปสามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง

พร้อมได้มอบให้หน่วยงานที่ดูเรื่องนี้ศึกษาข้อมูลและชี้แจงต่อประชาชนว่า หน้ากากอนามัยทั่วไปจะป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ในระดับใด นอกจากนี้ที่ประชุมฯ เห็นชอบการออกแนวทางควบคุม ป้องกัน เฝ้าระวัง  และรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นด้วย

สำหรับคำแนะนำช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ให้ติดตามค่าฝุ่นละอองก่อนออกจากบ้านและสวมหน้ากากอนามัย หากมี N95 ก็สามารถนำมาใช้ได้ สำคัญที่สุดคือมาตรการทำงานจากที่บ้าน(Work From Home) ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง สามารถลดค่าใช้จ่ายกิจการได้

 

ดังนั้น หาก WFH ได้จะช่วยลดฝุ่นละอองได้ เป็นการประยุกต์โควิดกับสถานการณ์ PM2.5 ได้ ส่วนการใช้ยานพาหนะขอความร่วมมือลดการใช้หรือใช้วิธี Car Fulling เดินทางร่วมกันในรถ 1 คันร่วมกับสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ตรวจสอบสภาพรถไม่ให้ปล่อยควันดำออกมา ส่วนโรงงานต่าง ๆ มีมาตรฐานกำกับดูแลอยู่แล้ว

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีมาตรการล็อกดาวน์ กิจกรรมต่างๆ ลดลง ฝุ่นจึงน้อยลง แต่ปีนี้มีนโยบายเปิดประเทศ จะมีการสัญจรมากแหล่งกำเนิดฝุ่นจะมาก และคาดว่าปีนี้จะมีความกดอากาศสูงมากกว่าปีที่ผ่าน

 

ดังนั้น จะมีการจัดระบบเฝ้าระวังโรคจากสิ่งแวดล้อม และประกาศให้ฝุ่น PM2.5 เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เทียบเคียงกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่มีการประกาศโรคที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมเห็นชอบ 5 กลุ่มโรคเฝ้าระวัง คือ 1.โรคที่เกิดจากทางเดินหายใจ 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคตาอักเสบ 4.ผิวหนังอักเสบ และ 5.โรคอื่นๆ

 

มีการจัดระบบให้โรงพยาบาลรายงานกลุ่มโรค รวบรวมข้อมูลการเฝ้าระวังโรค และ การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมจากแอปปลิเคชั่นต่างๆ เช่น Air4Thai จากนั้น คณะกรรมการโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมจังหวัด/กรุงเทพมหานคร รับไปดำเนินการแจ้งเตือนประชาชน ออกมาตรการ ห้ามกิจกรรมใดบ้าง

 

“รัฐมนตรีเน้นย้ำว่าหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น และประชาชนป่วยมากขึ้น อาจต้องเพิ่มมาตรการ WFH สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งกรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการศึกษาว่าการใช้แบบ N95 หรือสวมหน้ากาก 2 ชั้นแบบใดจะเหมาะสมกว่ากัน” นพ.โอภาส กล่าว

 

ส่วนมาตรการฝุ่น PM2.5 จะเหมือนโควิด ที่ปรับตามระดับสีเขียว เหลือง และแดง  จึงจะมีการกำหนดลดกิจกรรมต่างๆ ลงขึ้นกับสถานการณ์ในพื้นที่ และให้ใช้กลไกระดับพื้นที่ โดยคณะกรรมการฯ จังหวัดดำเนินการตามมาตรการที่ส่วนกลางกำหนด