ความคืบหน้าจากการที่ น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ“พิมรี่พาย” หุ้นส่วน "อิสคิวท์คลินิกเวชกรรม"สาขาห้วยขวาง เข้าแจ้งความตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ว่า คลินิกของตนถูกมิจฉาชีพใช้เอกสารใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์หญิงท่านอื่น มาสมัครเป็นแพทย์ผู้ให้บริการของคลินิก ต่อมาวันที่ 17 ธ.ค. พิมรี่พาย ประกาศรางวัลแจ้งเบาะแสหาตัวผู้กระทำความผิดสูงถึง 100,000 บาท พร้อมระบุว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกจะปิดคลินิกทันทีนั้น
สั่งปิด 30 วันคลินิกพิมรี่พาย สาขาห้วยขวาง
ต่อเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 64 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่า หลังจากเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงพื้นที่ตรวจสอบ อิสคิวท์คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง เบื้องต้นได้สั่งปิดสาขาดังกล่าว เป็นเวลา 30 วัน พร้อมดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าของสถานพยาบาลตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลต่อไป โดยสั่งปิดเพียงสาขาเดียว เนื่องจากต้องดูจากสาเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้พบแค่สาขาเดียว
ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่ กรม สบส.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ อิสคิวท์คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยผู้เกี่ยวข้องของคลินิกต่างให้ถ้อยคำว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับนางสาวอาลินดา ซึ่งแอบอ้างเป็นแพทย์มาลักลอบให้บริการฉีดสารเสริมความงามในคลินิก แต่เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้รับบริการ กรม สบส.จึงออกคำสั่งทางปกครองให้ปิด "อิสคิวท์คลินิกเวชกรรม สาขาห้วยขวาง" เป็นการชั่วคราว 30 วัน
ซึ่งกรม สบส.จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่คลินิกมีการดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายสถานพยาบาลในทุกด้าน ทั้งในด้านสถานที่ บุคลากร และการโฆษณา ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากครบระยะเวลาแล้วยังไม่มีการปรับปรุงก็อาจจะต้องใช้ยาแรง อย่างการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลต่อไป
ชี้โทษจำคุก 2 ปีปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
นพ.ธเรศฯ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนคดีความของหมอเถื่อนรายดังกล่าว แม้พนักงานสอบสวนจะอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดี แต่ทางกรม สบส.ก็ได้มีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ในความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาลพ.ศ.2541 ฐานปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ดำเนินการฯจะอ้างว่าตนไม่รู้เห็นไม่ได้ เพราะผู้ดำเนินการฯจะต้องควบคุม กำกับ การดำเนินการของสถานพยาบาลให้ถูกต้อง ปลอดภัยตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
"การที่ปล่อยให้หมอเถื่อนมาให้บริการในสถานพยาบาลที่ตนดูแลอยู่นั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ผู้ดำเนินการฯจะต้องรับผิดตามกฎหมาย และรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดต่อผู้รับบริการด้วย" อธิบดี กรม สบส. กล่าว
ทั้งนี้ หากพบเห็นเบาะแสการดำเนินการของ รพ.เอกชน หรือคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือหมอเถื่อน ในพิ้นที่ กทม.สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426