วันที่ 20 ธ.ค.64 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองโรคระบาด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย 1 ราย โดยติดเชื้อจากสามี ซึ่งสามีเป็นนักบิน สัญชาติโคลัมเบีย ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยทุกรายยังมีความเชื่อมโยงกับการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไม่มี Index case ในประเทศไทย
โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วทั้งหมด 63 ราย ยืนยันด้วยวิธีจีโนม (Whole Genome Sequencing - WGS) แล้ว 20 ราย อย่างไรก็ดี การตรวจเบื้องต้นด้วยวิธี SNP (Single nucleotide polymorphisms) ค่อนข้างแม่นยำว่าเป็นเชื้อโอมิครอน ทั้งนี้ ล่าสุดเบื้องต้นพบโอมิครอนอีกประมาณ 20-30 ราย
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอน ขณะนี้พบการแพร่ระบาดแล้วทั้งหมด 89 ประเทศ และ 36 รัฐในประเทศอเมริกา โดยขณะนี้พบสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ BA.1 BA.2 และ BA.3 แต่จากภาพรวมสายพันธุ์หลักทั่วโลกยังเป็นโอมิครอนสายพันธุ์เดิม BA.1 ทั้งหมด 6,496 ราย อย่างไรก็ดี กรมวิทย์ฯ ยืนยันว่าการตรวจจับสายพันธุ์ยังทำได้ตามปกติ ทั้งแบบเบื้องต้น (Potentially) และแบบยืนยัน (Confirmed)
ด้านองค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของวัคซีน และเกิดภูมิคุ้มกันมากขึ้น สอดคล้องกับผลการวิจัยของฮ่องกง ที่ระบุว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์ จะช่วยทำให้ระดับแอนติบอดี้กลับมามีค่าสูงขึ้น ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็สามารถป้องกันการเสียชีวิต หรืออาการรุนแรงจากการติดเชื้อได้