ควรยกเลิก "Test & Go" หมอเฉลิมชัยชี้เพื่อลดจุดอ่อนโอมิครอนแพร่ระบาด

20 ธ.ค. 2564 | 07:14 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 20:48 น.

ควรยกเลิก Test & Go หมอเฉลิมชัยชี้เพื่อลดจุดอ่อนโอมิครอนแพร่ระบาด ห่วงผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยนำเชื้อไวรัสเข้ามา

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ควรยกเลิก Test and Go (Test & Go)การเข้าประเทศแบบตรวจ PCR เป็นลบ แล้วปล่อยตัวออกไปเลย เพื่อลดจุดอ่อนในการระบาดของโอมิครอน (OmiCron)
จากที่มีรายงานมาเป็นลำดับว่า มีผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย แล้วนำเชื้อโอมิครอนเข้ามา
ในขณะนี้ตัวเลขเบื้องต้นไปถึง 63 รายแล้ว โดยเป็นการเดินทางจากต่างประเทศ 62 ราย ติดกันเองในประเทศ 1 ราย
จุดที่สามารถพัฒนาปรับปรุงเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนได้คือ ควรยกเลิกระบบการคัดกรองแบบเทสต์แอนด์โก (Test and Go)

ซึ่งหมายความว่า ถ้าตรวจพีซีอาร์แล้วเป็นลบ ก็ให้ออกไปได้เลย ไม่ต้องกักตัวนั้น
ควรจะกักตัวไว้เป็นเวลา 10-14 วัน จนแน่ใจว่าผลเป็นลบ ถึงจะให้ออกไปได้
ไม่เช่นนั้น จะมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งทดสอบต้นทางเป็นลบ ฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อมาถึงประเทศไทยผลตรวจเป็นลบ ก็ปล่อยตัวออกไปได้เลย แต่พบภายหลังว่าติดไวรัสโอมิครอน ซึ่งเดิมใช้ได้สำหรับไวรัสเดลตา
แต่ถ้าเป็นไวรัสโอมิครอน วิธีนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ มีความเสี่ยงที่จะหลุดรอดเข้ามาได้

ควรยกเลิก Test and Go ป้องกันโอมิครอน
จึงควรยกเลิกวิธีดังกล่าว แล้วกักตัวทุกราย สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ
ขณะนี้ทราบข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดที่จะยกเลิกการเข้าประเทศแบบที่เรียกว่า Test and Go ซึ่งควรเร่งดำเนินการโดยเร็วต่อไปจะชะลอการแพร่ระบาดของโอมมิครอนได้ในระดับหนึ่ง

และในระหว่างนี้ ควรเร่งมาตรการเพื่อรองรับการระบาดของโอมิครอน (ซึ่งยากจะหลีกเลี่ยงได้) คือฉีดวัคซีนเข็มสามให้ผู้ที่ได้รับเข็มสองจำนวนอีก 50,000,000 โดส ภายในสามเดือนข้างหน้า ซึ่งเรามีศักยภาพสามารถทำได้
และเตรียมยา เวชภัณฑ์ และความพร้อมของบุคลากรในระบบสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ถือว่าเตรียมได้ดีพอสมควร
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 20 ธันวาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น  2,525 ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,165,190 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย หายป่วยเพิ่ม 4,190 ราย กำลังรักษา 40,097 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,105,122 ราย