รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 โอมิครอน (Omicron) การฉีดวัคซีนเข็ม 3
หมอยงระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไม่เพียงพอในการจะป้องกัน COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม จึงจะเพียงพอสำหรับ Covid-19 สายพันธุ์โอมิครอน เข็มกระตุ้นควรจะเป็น AZ (AstraZeneca) ,PZ (Pfizer) ,MN (Moderna)
ถ้าดูระบบภูมิต้านทานในการฉีดเข็ม 3 ไม่ว่าจะ ฉีด SV (Sinovac) - SV หรือ AZ - AZ มาก่อน การให้เข็ม 3 สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี โดยเฉพาะในการให้ช่วง 3 ถึง 6 เดือน ยกเว้นการกระตุ้นด้วยเชื้อตาย (จะกระตุ้นได้สูงประมาณ 10 เท่า 1 log scale)
การให้ SV 2 เข็มแล้วกระตุ้น AZ PZ MN ภูมิต้านทานขึ้นสูง เช่นเดียวกันกับ AZ 2 เข็ม กระตุ้นด้วย PZ หรือ MN ก็กระตุ้นได้สูงมาก (ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ การศึกษา AZ เป็นเข็มกระตุ้น AZ 2 เข็มมาก่อน) ในการใช้วัคซีน moderna การให้ขนาดครึ่งโดส เปรียบเทียบกับการให้เต็มโดส ผลภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกันมาก
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น รอการศึกษา neutralizing antibody ต่อสายพันธุ์เดลตาและ โอมิครอน
ประเทศสหรัฐอเมริกา การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย MN แนะนำให้ใช้ครึ่งโดส ในทำนองเดียวกัน ประเทศยุโรป เช่นประเทศอังกฤษ ใช้ Moderna เป็นเข็มกระตุ้นตามหลัง AZ 2 โดส ก็ใช้ ครึ่งโดส เช่นเดียวกัน
การศึกษาเข็ม 3 ตามหลังสุดไขว้ SV-AZ กำลังดำเนินการอยู่และจะแสดงผลได้หลังปีใหม่
ข้อมูลที่แสดงให้ดูนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ในการทำการศึกษาวิจัยเราทำมากกว่านี้มาก รวมทั้ง neutralization
และขณะนี้ก็สามารถแยกเพาะเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้แล้ว จะมีข้อมูลของ neutralization ในการเผยแพร่ต่อไป
ในการศึกษาเปรียบเทียบในสูตรต่างๆของการให้วัคซีนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามสถานการณ์วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันที่ 24 ธันวาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 2,671 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,175,809 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย หายป่วย 2,766 ราย กำลังรักษา 38,192 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,117,526 ราย