รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
โควิด-19 โอมิครอน (Omicron) ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น
1.การติดต่อง่ายจริงหรือ
ง่ายครับ สมัยระบาดระลอกแรกสายพันธุ์อู่ฮั่น มีผู้ติดเชื้อ 1 คนนั่งกินเหล้าเฉลิมฉลองด้วยกัน 7 คน จะมีคนติดเชื้อไป 1-2 คน
พอมาสายพันธุ์เดลต้า นั่งกินเหล้ากัน 10 คน จะติดเชื้อไป 6-7 คน
สายพันธุ์ โอมิครอน ตัวอย่างที่เห็น นั่งเฉลิมฉลองกัน 11 คน มี 1 คนกลับจากฝรั่งเศส ติดเชื้อไปครบทั้ง 10 คนเลย
เป็นการพิสูจน์การติดง่ายแน่นอน
2.หลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีน
ข้อมูลชัดเจนแล้วว่าฉีดวัคซีน 2 เข็ม ไม่ว่ายี่ห้ออะไร ไม่มีวัคซีนเทพแน่นอน ติดเชื้อกันได้ถ้วนหน้า จำเป็นจะต้องอาศัยเข็ม 3 ในการยกระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้น เพื่อใช้ในการต่อสู้ ผู้ที่ได้ 3 เข็มมานานแล้ว ภูมิต้านทานจะตกลงตามกาลเวลา เมื่อภูมิต้านทานตกลง ก็จะติดเชื้อได้
รวมทั้งผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน มีภูมิต้านทานทั้ง 2 ระบบ T และ B cells อย่างดี ก็ยังติดเชื้อซ้ำได้ แน่นอนผู้ที่มีภูมิต้านทานอยู่แล้ว อาการของโรคก็จะน้อยลง
3.ความรุนแรงของโรค
ข้อมูลที่ออกมาเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น การติดเชื้อโอมิครอน ความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา จากการศึกษาในแอฟริกาใต้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ต้องเข้านอนโรงพยาบาล น้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้านอนโรงพยาบาลแล้วการดำเนินโรคไปจนถึงความรุนแรงไม่แตกต่างกันกับสายพันธุ์เดลตา การศึกษาในอังกฤษ ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ต้องนอนโรงพยาบาลน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน โอกาสที่จะต้องนอนโรงพยาบาลลดลงไปอีก น้อยกว่าครึ่งที่ตรงเข้านอนโรงพยาบาล
การศึกษาในสกอตแลนด์ ก็เช่นเดียวกัน โอมิครอน โอกาสที่จะต้องนอนโรงพยาบาลลดลงไป 2 ใน 3 ส่วนมากจะมีผลจากภูมิต้านทานจากวัคซีนเดิมหรือติดเชื้อ ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง
ความจำเป็นที่จะต้องสร้างภูมิต้านทานให้ประชากรส่วนใหญ่ให้มากที่สุดและสูง จะเป็นการช่วยป้องกันลดความรุนแรงของโรคลง เพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์โอมิครอน จำเป็นจะต้องอาศัยเข็ม 3 ใบผู้ที่ได้รับวัคซีนมานานแล้วเกินกว่า 3 เดือน
โอมิครอน ในบ้านเรา จะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ และสายพันธุ์นี้จะมาแทนที่สายพันธุ์เดลตาอย่างแน่นอน
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลพบว่าล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 205 คน
ส่วนกรณี 2 สามี และภรรยา ที่เดินทางจากประเทศเบลเยี่ยมเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Test & Go แล้วกลับบ้านไปที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดอุดรธานี ก่อนจะพบว่า ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนนั้น ล่าสุดในกลุ่มนี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงกว่า 100 คน โดยในจำนวนนี้รับรายงานมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว 22 คน ซึ่ง 19 คน เป็นพนักงานร้านอาหารที่สามี ภรรยาเดินทางไปรับประทาน ส่วนอีก 3 คน เป็นคนในครอบครัว