กายพร้อมใจพร้อม วาระดิถีขึ้นปีใหม่ ชาวพุทธนิยม เข้าวัด ทำบุญไหว้พระ เสริมสร้างสิริมงคลให้ชีวิต เพื่อเป็นการต้อนรับสิ่งดี ๆ ในปีใหม่นี้ เรามี 9 วัดในเขตกรุงเทพมหานคร มาแนะนำกัน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด มีวัดไหนบ้าง เริ่มกันที่...
1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว
เมื่อพูดถึงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งเป็นพระอารามหลวงประจำกรุงรัตนโกสินทร์ เราก็ต้องนึกถึง พระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง
พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 48.3 เซนติเมตร สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร 66 เซนติเมตร ประดิษฐานบนบุษบกทองคำภายในพระอุโบสถของวัด มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2321 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ส่งกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางจากเวียงจันทน์มายังกรุงธนบุรี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานีมายังฝั่งกรุงเทพฯ ก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระแก้ว ในรัชสมัยของพระองค์ยังได้มีการสร้างเครื่องทรงของพระแก้วมรกตถวาย เป็นเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝน ต่อมาในสมัยของรัชกาลที่ 3 จึงมีการสร้างเครื่องทรงสำหรับฤดูหนาวถวายอีกชุดหนึ่ง ครบ 3 ฤดู
ในช่วงปีใหม่ หากสังเกตดูจะเห็นพระแก้วทรงเครื่องฤดูหนาว จะมีการเปลี่ยนเป็นเครื่องทรงฤดูร้อนในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 และเป็นเครื่องทรงฤดูฝนในวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 เป็นงานพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จมาทำพิธีเอง
ผู้มาสักการะพระแก้วมรกต มักขอพรด้านความรุ่งเรืองในชีวิตและการงาน เพิ่มพูนสติปัญญา และการข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ
2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์
ในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกนั้น ประดิษฐาน “พระพุทธเทวปฏิมากร” เป็นพระพุทธรูปงาม ซึ่งแต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ที่วัดศาลาสี่หน้า หรือวัดคูหาสวรรค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์รวมถึงสร้างพระอุโบสถใหม่ แล้วจึงให้อัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าว มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่นี้ พร้อมทรงถวายพระนามใหม่ว่า "พระพุทธเทวปฏิมากร" หมายถึงพระพุทธรูปที่งดงามราวกับเทวดามาสร้างไว้ เนื่องจากพระพุทธเทวปฏิมากรนี้เป็นพระพุทธรูปโบราณมีลักษณะงดงามยิ่งนัก
ผู้มาสักการะ"พระพุทธเทวปฏิมากร" ยังจะได้กราบพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่บรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระพุทธเทวปฏิมากรด้วย นอกจากนี้ ที่วัดโพธิ์ยังมีพระพุทธไสยาส (พระนอน) ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนครั้งใหญ่เมื่อ จ.ศ.1193(พ.ศ.2375) ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองทั่วทั้งองค์
องค์พระนอนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ผู้คนนิยมขอพรเรื่อง ความรัก เสริมความเมตตา ขณะที่ภาพมงคล 108 ประการใต้พระบาท อาทิภาพหม้อน้ำ ปลาคู่ พวงมณี ดอกบัว เป็นลักษณะแห่งโชคลาภและ ความอุดมสมบูรณ์
3. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง
พระประธานในพระอุโบสถของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง ซึ่งเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 2 นั้น คือ “พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก” พระพุทธรูปองค์นี้จัดเป็นศิลปวัตถุที่มีความพิเศษยิ่งชิ้นหนึ่งของชาติ ด้วยเป็นฝีพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นเอง พระองค์ได้รับยกย่องว่าทรงเป็นเลิศทางศิลปะหลายแขนง ส่วนพระวรกายของพระพุทธรูปปั้นโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่ฐานของพระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 อีกด้วย
และด้วยความหมายตามชื่อ ‘อรุณรุ่ง’ ของวัดแห่งนี้ คนส่วนใหญ่นิยมมาสักการะบูชาองค์พระประธานเพื่อเสริมบารมีให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองดุจอรุณรุ่ง
4. วัดสุทัศนเทพวราราม
"วัดสุทัศนเทพวราราม" เป็นวัดมีการจัดผังได้อย่างเหมาะสมงดงาม ภายในพระวิหารหลวงมีพระพุทธรูปงดงาม คือ "พระศรีศากยมุนี" หรือ “พระโต” เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดสมัยสุโขทัย อายุกว่า 600 ปี เป็นพระประธาน
พระพุทธรูปองค์นี้ แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย ต่อมารัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดสุทัศน์ฯ เพื่อเป็นหลักแก่บ้านเมือง มีเรื่องเล่าขานว่า พระองค์มีพระราชศรัทธาถึงขนาดเดินด้วยพระบาทเปล่าเพื่อแห่องค์พระศรีศากยมุนีจากท่าช้างมายังวัดสุทัศน์ฯ อีกด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2377) ทรงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 วา 17 นิ้ว สูง 4 วา 18 นิ้ว เป็นประธานในพระอุโบสถ ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 4 ถวายพระนามพระประธานองค์นี้ว่า พระตรีโลกเชษฐ์
ชาวพุทธเชื่อว่าการได้สักการะบูชา พระศรีศากยมุนี และพระตรีโลกเชษฐ์ ที่วัดสุทัศน์ฯ จะเป็นการเสริมสร้างบารมี และเพื่อให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล (ดุจดังชื่อวัด)
นอกจากนี้ หากใครได้เข้ามากราบพระแล้ว ก็อย่าลืมเดินอ้อมมาด้านหลังพระวิหาร เพื่อชมแผ่นหินแกะสลักสมัยทวารวดี มีอายุกว่า 1,000 ปี แผ่นหินนี้แกะสลักเป็นภาพนูนต่ำอันงดงามยิ่งนัก เป็นเรื่องราวตอนที่พระพุทธเจ้าเทศนาโปรดพระพุทธมารดาและแสดงยมกปาฏิหาริย์
5. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือวัดระฆัง เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางหว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”
วัดแห่งนี้นอกจากจะมีรูปหล่อ “หลวงพ่อโต” หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังสี) เป็นพระเกจิดังแห่งยุคที่มีคนศรัทธาไปกราบไหว้มากมายแล้ว ในพระอุโบสถยังมีพระพุทธรูปงดงามที่ไม่ควรพลาดชมและแวะสักการะ มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยตรัสว่า "ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที..." ซึ่งน่าจะเป็นเพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่อ่อนโยนและเมตตา จึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้กันต่อมาว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า"
“พระประธานยิ้มรับฟ้า” เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก ผู้คนนิยมกราบไหว้ขอพรเพื่อเสริมดวงให้มี ชื่อเสียงโด่งดัง หรือ เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน
6.วัดชนะสงคราม
ชื่อ “วัดชนะสงคราม” ได้มาหลังจากที่สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทรงมีชัยชนะในสงคราม 9 ทัพ และได้กรีฑาทัพกลับพระนคร ในครั้งนั้นพระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2330 ถวายเป็นพระอารามหลวงแก่รัชกาลที่ 1 ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "วัดชนะสงคราม" เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรทรงมีชัยชนะในการรบกลับมา
ในพระอุโบสถของวัดชนะสงครามประดิษฐานพระประธานนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ" หรือ “หลวงพ่อปู่” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย แต่เดิมองค์พระมีขนาดเล็กกว่านี้ แต่สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงถอดฉลองพระองค์ลงยันต์ (เสื้อยันต์) คลุมองค์พระถวายเป็นพุทธบูชา ต่อมาช่างก็ได้โบกปูนทับทำให้องค์พระใหญ่ขึ้นดังเช่นที่เห็นกันในปัจจุบัน
ผู้เคารพศรัทธามากราบไหว้รูปหล่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และ “หลวงพ่อปู่” มักยึดเอามงคลนามชื่อวัด “ชนะสงคราม” ว่าจะช่วยดลบันดาลให้ชนะอุปสรรคทั้งปวง จึงนิยมขอพรให้ชีวิตประสบ ความสำเร็จ และเอาชนะอุปสรรคในด้านต่างๆ
7.วัดบวรนิเวศวิหาร
ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศฯ (พระอารามหลวงชั้นเอก) หรือเดิมชื่อ วัดใหม่ มีพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ 2 องค์คู่กัน คือ “พระพุทธชินสีห์” และ “พระสุวรรณเขต”
พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปประธานที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าศรีธรรมปิฎก เจ้าเมืองนครเชียงแสน ทรงหล่อขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินราชและพระศาสดา เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งในหัวเมืองฝ่ายเหนือ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพจึงทรงอัญเชิญมาประดิษฐานในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร สมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ
ส่วนพระสุวรรณเขต หรือ “พระโต” เป็นพระพุทธรูปหล่อโบราณลักษณะแบบพระขอม กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพได้ทรงอัญเชิญจากสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ด้านหลังพระพุทธชินสีห์จนถึงปัจจุบัน
ใครไปวัดบวรนิเวศแล้ว อย่าลืมแวะสักการะ “พระไพรีพินาศ” ซึ่งเป็นพระนามของพระพุทธรูปที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ เก๋งบนชั้นสองด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ใหญ่ วัดบวรนิเวศฯ ตำนานเล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีผู้นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ราวพ.ศ.2391 พระพุทธรูปองค์นี้ทรงแสดงอภินิหารให้ปรากฏ โดยอริราชศัตรูที่คิดปองร้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างมีอันเป็นไปและพ่ายแพ้ภัยตนเอง ผู้ที่มาสักการะนิยมขอพรให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ปราศจากภัยพาล
8.วัดราชประดิษฐ์
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นวัดที่เล็กที่สุดในกรุงเทพฯ แต่ก็มีความสำคัญตรงที่เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นด้วยเหตุผลตามโบราณราชประเพณีที่ถือกันว่า เมืองหลวงจะต้องมีวัดสำคัญ 3 วัด ด้วยกัน คือวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัดนี้นั้นตั้งอยู่บนฐานไพทีทั้งหมด คือพระวิหาร พระปาสาณเจดีย์ หอไตร ปราสาทพระจอม สำหรับพระวิหารนั้นทำหน้าที่เป็นพระอุโบสถด้วย ภายในมีพระประธานนามว่า "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดเล็กพอเหมาะกับพระวิหาร ประดิษฐานอยู่ในบุษบก โดยรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างจำลองขึ้นจากพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระองค์ทรงโปรดในพุทธลักษณะอันงดงาม รวมทั้งมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ
เบื้องหลังพระประธานก็ยังมีบุษบกน้อยอีก 3 องค์ที่จำลองเอาพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระพุทธชินราชมาไว้ด้วย ส่วนเบื้องหน้าพระประธานมีครอบแก้วเล็กๆ ประดิษฐาน “พระนิรันตราย” ไว้อีกด้วย
9.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
ในวิหารหลวงของวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นโทแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “หลวงพ่อโต” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประธาน ผู้คนนิยมกราบไหว้บูชาเพื่อให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย หรือถ้ามีภัยก็จะผ่อนหนักเป็นเบา
หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 วา 3 ศอกคืบ สูง 7 วา 2 ศอกคืบ 10 นิ้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ว่าที่สมุหนายก ซึ่งเป็นผู้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียงสำหรับการสร้างวัด และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร"