ผู้เสียชีวิต 65 ราย ผู้บาดเจ็บ 535 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29 – 31 ธ.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,339 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 153 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,322 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต(ตายเป็นศูนย์) มี 40 จังหวัด ประสานจังหวัดปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานของด่านชุมชนและจุดสกัดตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เน้นการเรียกตรวจยานพาหนะและความพร้อมของผู้ขับขี่ คุมเข้มการขับเร็ว ดื่มแล้วขับ การใช้อุปกรณ์นิรภัยทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อสร้างการสัญจรปลอดภัยมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 555 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 65 ราย ผู้บาดเจ็บ 535 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 36.40 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 34.77 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.41 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.18 ถนนกรมทางหลวง ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 36.04 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 21.44 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 30 – 39 ปี ร้อยละ 18.38 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,907 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,969 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 369,802 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 86,358 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 24,992 ราย ไม่มีใบขับขี่ 22,518 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (26 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (23 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29 – 31 ธ.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,339 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 153 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,322 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 40 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ (57 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (9 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (51 คน)
นายบุญธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ประชาชนยังคงเฉลิมฉลองและเดินทางท่องเที่ยว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้ประสานจังหวัดปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานของด่านชุมชนและจุดสกัดตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เน้นการเรียกตรวจยานพาหนะและความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะในช่วงเวลา 18.01– 21.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง คุมเข้มการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ การใช้อุปกรณ์นิรภัยทุกที่นั่งในรถทุกประเภท รวมถึงการสวมนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรง อีกทั้งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบนเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว ทางแยก ทางร่วม รวมถึงการจอดรถบนไหล่ทางที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างการสัญจรปลอดภัยมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน