จุฬาฯ จับมือพันธมิตร กำจัดขยะแม่น้ำเจ้าพระยา

03 ม.ค. 2565 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2565 | 11:56 น.

จุฬาฯ ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลฯ และดิ โอเชียน คลีนอัพ กำจัดขยะพลาสติกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ความต้องการใช้พลาสติกสังเคราะห์จากปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมในช่วงทศวรรษ 1950 ทั่วโลกมีการใช้พลาสติกเพียงสองล้านตัน แต่ในปัจจุบันกลับใช้มากถึงสี่ร้อยล้านตันต่อปี โดยพลาสติกได้ถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม นับตั้งแต่ด้านบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อสำหรับอาหารและยา ไปจนถึงชิ้นส่วนน้ำหนักเบาของยานยนต์และเครื่องบิน และอื่น ๆ เมื่อสิ้นอายุการใช้งาน พลาสติกเหล่านี้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

ศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และรองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากจำนวนพลาสติกที่ถูกผลิตมากกว่าแปดล้านตันทั่วโลก ร้อยละ 80 ของพลาสติกเหล่านั้นกลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบหรือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

แม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ ได้นำทีมนักวิชาการอาวุโสจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และสถาบันวิจัยสังคม ร่วมมือกันทำงานในครั้งนี้ จากการที่ขยะพลาสติกไหลลงสู่มหาสมุทรผ่านแม่น้ำเป็นเส้นทางหลัก ปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่ามีขยะพลาสติกจากทั่วโลกไหลลงสู่แม่น้ำเป็นจำนวน 0.8–2.7 ล้านตันในแต่ละปี

 

“ความร่วมมือทางวิชาการและลักษณะเฉพาะของแม่น้ำเจ้าพระยาในฐานะ 'ห้องปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม' เป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการช่วยพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลภาวะพลาสติก การเดินทางสู่ทะเล และจุดสิ้นสุดของขยะพลาสติก” ดร. โทมัส มานี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมด้านแม่น้ำแห่งดิ โอเชียน คลีนอัพ กล่าว 

 

ในขณะเดียวกัน ดิ โอเชียน คลีนอัพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัทในเครือของ Asimar Ecomarine ได้มีการติดตั้งเรือดักขยะแม่น้ำพลังแสงอาทิตย์ Interceptor™ ในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งในภารกิจกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรและในแม่น้ำที่มีมลพิษมากที่สุด

 

โดยคาดว่าจะสามารถสกัดขยะพลาสติกได้ประมาณ 80-300 ตันต่อปี และช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้ในปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรและสำรวจความเป็นไปได้อื่น ๆ เพื่อสกัดกั้นขยะพลาสติกในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

ดร. มานี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยได้แนะนำผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษพลาสติกจากดิ โอเชียน คลีนอัพ ให้ทำงานร่วมกับโครงการนี้ โดยมีความเชื่อว่า “หากเราวัดผลไม่ได้ เราก็จะจัดการไม่ได้” ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงและความร่วมมือเพื่อผลักดันการวิจัยเชิงลึกในการพัฒนาความเข้าใจของประชาชน รัฐบาล และนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมนี้

 

ทั้งนี้ โครงการวิจัยกำจัดขยะพลาสติกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ นี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2567) โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยในส่วนที่ติดกับตัวเมืองของแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบกรุงเทพฯ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ยังเข้าใจกลไกของฟลักซ์ของขยะพลาสติกตามแต่ละช่วงเวลาไม่กระจ่างนัก

 

เช่น ขยะพลาสติกรั่วไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อใดและอย่างไร เมื่อใดจะถูกชะลงน้ำ เร็วเพียงใด และไกลเพียงใด สัดส่วนขยะพลาสติกจากส่วนใดของแม่น้ำที่จะถูกพัดถึงปากแม่น้ำและไหลลงอ่าวไทย พลาสติกจำนวนมากเท่าใดและประเภทใดจะถูกสกัดกั้นด้วยเรือ Interceptor™ เป็นต้น

 

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ นักวิจัยจะติดกล้องสำรวจตามลำน้ำสาขาและบนสะพานข้ามแม่น้ำ ปล่อยเครื่องติดตามจีพีเอส (Global Positioning System: GPS) ลงในลำน้ำติดตามเส้นทางการไหล และสัมภาษณ์คนในพื้นที่เกี่ยวกับความตระหนักรู้และความเชื่อเกี่ยวกับการปล่อยของเสียในครัวเรือนลงสู่แม่น้ำ

 

“เราจำเป็นต้องเก็บหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งเพื่อสนับสนุนและโต้แย้งกับข้อมูลของแบบจำลองในปัจจุบัน”

 

ดร. สุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นผู้แทนจากทางภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในโครงการนี้ กล่าวว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากโครงการนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหามลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อแหล่งน้ำอื่น ๆ อีกด้วย