ศ. ภญ. ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการ AGRO GENIUS DIPROM เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความคืบหน้าการจัดทำโครงการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ AGRO GENIUS DIPROM
เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นำแนวคิดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนั้น
ล่าสุดมีผู้ประกอบการ 50 กิจการที่ผ่านการคัดเลือกและเข้าร่วมพัฒนานวัตกรรมสินค้าจนสำเร็จและได้ผลิตภัณฑ์ตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ ประกอบด้วยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 24 กิจการ เครื่องสำอาง 12 กิจการ สมุนไพรและอาหารเสริม 11 กิจการ และอื่นๆ 3 กิจการ อาทิ เครื่องมือแพทย์ อุปโภคบริโภค เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และมีผู้สนใจติดต่อเพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายเดินหน้ารุกทำตลาดเองด้วย
“ตลอด 8 เดือนที่ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ต้องเผชิญกับปัญหามากมากโดยเฉพาะอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 พอดีทำให้การพบปะ แลกเปลี่ยน รวมถึงการร่วมกันศึกษา วิจัยเพื่อให้ได้ผลงานเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความตั้งใจจริง แม้จะเดินทางมาร่วมวิจัย พัฒนาที่แลปของมหาวิทยาลัยไม่ได้ ก็เลือกที่จะศึกษาเอง หรือใช้แลปของมหาวิทยาลัยใกล้บ้านแทน จนที่สุดได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ”
โดยเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการประกอบไปด้วย 1. ความใหม่ ซึ่งต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีในตลาดน้อยราย 2. สามารถลอกเลียนแบบได้ยาก 3. มีมูลค่าสูง เช่น การนำวัตถุดิบที่มีเริ่มต้น 10 บาท แต่เมื่อพัฒนาแล้วออกสู่ตลาดมูลค่าเพิ่มเป็น 150 บาท เป็นต้น และ 4. ต้องตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค หรือเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคมองหา
สำหรับผลงานที่ได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบ 5 กิจการได้แก่ 1. น้ำจิ้มไก่ ชนิดผง ตราจีระพันธ์ 2. ครีมลดรอยแผลเป็น รอยดำ แดงจากสิว “Cental Cream” ที่เกิดจากสารสกัดสมุนไพร อาทิ ว่านหางจรเข้, บัวบก, ขมิ้นชัน, หัวหอม เป็นต้น 3. ผ้าเปียกผสมสมุนไพร สำหรับเช็ดตัวลดไข้เด็ก “DragKooler” ที่นำสารสกัดจากสมุนไพรไทย เช่น มะนาว ไพล ใบย่านาง โหระพา ฯลฯ มาสกัดด้วยเทคโนโลยี
4. ชาสมุนไพรจากใบข้าว ที่มีสารของถั่งเช่าและซีลีเนียม “ไบชานา BaiCHANA” และ 5. กระเจี๊ยบเขียวอัดเม็ด “OK” ที่พัฒนาผ่านกระบวนการ FREEZ DRY เป็น Okra Powder พกพาง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย โครงการฯมีแผนจะรวมรุ่นผู้ประกอบการอีกครั้ง เพื่อสร้างเครือข่ายทั้งการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ แนวคิด การสร้างตลาด เพื่อต่อยอดธุรกิจต่อไปในอนาคตด้วย
ศ. ภญ. ดร.พรอนงค์ กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจะช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ ดังนั้นภาคเอกชนที่สนใจ สามารถติดต่อผ่านเว็บไซต์ AGRO GENIUS DIPROM หรือผู้สนใจเข้าร่วมโครงการก็สามารถเข้ามาศึกษาข้อมูลต่างๆ ได้ โดยมหาวิทยาลัยมีแผนเดินหน้าโครงการ AGRO GENIUS DIPROM ในรุ่นที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ในเดือนมีนาคม 2565 นี้
ด้านนางสาวอริยาพรอำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2565 กองมีการจัดสรรงบประมาณราว 150 ล้านบาทในการพัฒนาสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการฐานรากให้มีมาตรฐาน ซึ่งแต่ละปีมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมพัฒนาราว 5,000-6,000 ราย แต่กลุ่มที่มีศักยภาพในการต่อยอดสู่นวัตกรรมราว 200-300 ราย
ทั้งนี้หลังจากประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ AGRO GENIUS DIPROM ในรุ่นแรก กองมีแผนที่จะต่อยอดด้วยการจัดแมชชิ่งและสร้างความเชื่อมโยง รวมทั้งช่วยสนับสนุนและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน โดยในรุ่นที่ 2 นี้ เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมอีกจำนวนมาก
“วันนี้ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการอยู่ยาก เพราะปัจจุบันก้าวสู่ดิจิทัลไลซ์ ผู้บริโภคคำนึงถึงสุขภาพ ผู้ประกอบการก็ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์สุขภาพมากขึ้น และต้องมีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่พัฒนาหรือทำแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น รสชาติ เพราะจะแข่งขันกันในเรด โอเชียน จึงต้องมองหาบลู โอเชียนแทน”
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,734 วันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564